ชุดงานสัมมนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง”

ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) ได้ร่วมมือกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดซีรี่ย์สัมมนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” โดยจัดสัมมนาขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง ภายใต้โจทย์สำคัญ 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, การกระจายอำนาจและปฎิรูปราชการ และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในแวดวงวิชาการและผู้เชี่ยวชาญนอกวงวิชาร่วมพูดคุยหารือในประเด็นดังกล่าว

สัมมนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ในหัวข้อ “การกระจายอำนาจและการ ปฏิรูประบบราชการ”

สัมมนาในหัวข้อ “การกระจายอำนาจและการปฏิรูประบบราชการ” จัดขึ้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา วิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร. วสันต์ เหลืองประภัสร์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร. อรทัย ก๊กผล จาก สถาบันพระปกเกล้า, รศ.ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม และพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จังหวัดยะลา ได้ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาปัจจุบันของประเทศไทย โดยเปรียบกับ “ปิรามิดสามเหลี่ยมมที่แตกกระจาย” เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในภาวะติดกับดัก 3 แพร่ง คือ กับดักความเหลื่อมล้ำ กับดักอำนาจนิยม และกับดักรายได้ปานกลาง ในขณะที่ยังคงขาดประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหา เนื่องมาจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐแบบไร้เอกภาพ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายบังคับใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ และมองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีส่วนสถาปนาให้เกิดรัฐราชการที่รวมศูนย์ ในขณะที่พลังทางสังคมเติบโตขึ้นมาก ดังนั้น การปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจขนาดใหญ่ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดพลังทางสังคมในวงกว้างและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่จนสามารถบังคับให้รัฐต้องรับผิดต่อประชาชน และจำเป็นจำต้องเน้นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพของทั้ง 3 ฝ่ายคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันหาทางออกในการจัดแบ่งบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

สัมมนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ”

สัมมนาในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรประกอบ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำนโยบายสังคม, จักรชัย โฉมทองดี จากองค์กร Oxfam และ รศ.ดร.นอลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 3 ท่าน ได้เล่าถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในแง่มุมต่าง ๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข และความเหลื่อมล้ำในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังได้เสนอถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างยาวนาน คือ อำนาจทางการเมืองและการจัดสรรทรัพยากรที่สัมพันธ์กัน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจและการผูกขาด ปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่ดินทำกินของคนกลุ่มล่าง และการสืบทอดมรดก ที่ขาดกลไกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ฐานะระหว่างรุ่น รวมทั้ง ทั้ง 3 วิทยากาได้เสนอถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะภาครัฐจะต้องมีมาตราการด้านรายจ่ายที่มีประสิทธิภาพต่อสวัสดิการสังคม และต้องมีจัดงบให้กับโรงเรียนลักษณะพิเศษเพื่อความเท่าเทียมด้านคุณภาพการศึกษา ด้านประกันสังคมควรหาทางทำให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาควรแก้ไขจุดอ่อนเพื่อจัดการกับการเลี่ยงภาษี และขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเงินได้แบบไหนก็ควรให้เสียในอัตราเดียวกันด้วยการเก็บภาษีแบบบูรณาการ เรื่องการกระจายอำนาจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ องค์กรส่วนถิ่นควรเพิ่มทั้งอำนาจทางการเมืองและการคลังเพื่อสะดวกในการดูแลปัญหาของท้องถิ่น รวมทั้งควรมีการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน

สัมมนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” ในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น”

ในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ร่วมเสวนาโดย บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารสารคดี. ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทั้ง 4 ท่าน มีความเห็นร่วมกันว่า ระบบการตรวจสอบเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เนื่องมาจากว่าที่ผ่านมา อุปสรรคของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยคือการขาดวัฒนธรรมการแสดงความรับผิดชอบ (Accountability) ของผู้มีอำนาจ ทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล ดังนั้นการแก้คอร์รัปชันได้ดีขึ้น จำเป็นจะต้องมีระบบที่โปร่งใส สังคมเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงได้ง่าย เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบ พร้อมทั้งเสนอให้นำบทเรียนจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมาปรับใช้ การผนึกกำลังระหว่างภาคประชาชน สื่อ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปลี่ยนระบบการเมืองเศรษฐกิจให้โปร่งใสและลดการผูกขาด เนื่องจากการผนึกกำลังระหว่างภาคประชาชน สื่อ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปลี่ยนระบบการเมืองเศรษฐกิจให้โปร่งใสและลดการผูกขาด และเห็นคุณค่าของการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนกับการต่อสู้คอร์รัปชันเป็นเรื่องเดียวกัน