ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ภาครัฐในประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจัง เนื่องจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวโดยบรรจุเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำที่ทางภาครัฐติดตามและประเมินผลของนโยบายจะเน้นหลักที่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การศึกษาและสาธารณสุข ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำมีมิติที่ค่อนข้างกว้าง และมีความหลากหลายของตัวชี้วัด
ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความตั้งใจในการศึกษาประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ และนำเสนอนโยบายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ทางศูนย์ฯ จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ในงานวิจัยนี้ นักวิจัยจะสำรวจความรู้เกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนฐานข้อมูลในประเทศที่จะช่วยให้นักวิจัยอื่น ๆ ในศูนย์ ตลอดจนบุคคลภายนอกได้ใช้ในการติดตามและประเมินความสำเร็จของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่แนวคิดเบื้องต้นที่ทางนักวิจัยนำมาใช้ได้แก่แนวทางของ Stiglitz และคณะ (2009) Hall และคณะ (2010) และ OECD (2011) ในการพัฒนาตัวชี้วัดที่ประเมินมาตรฐานการครองชีพด้านวัตถุและความอยู่ดีกินดี นอกจากนี้งานวิจัยนี้พยายามที่จะนำเสนอการสร้างดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำหลากมิติ (multidimensional inequality index) เพื่อใช้สะท้อนภาพรวมของความเหลื่อมล้ำ และใช้ในการประเมินผลของการดำเนินนโยบายภาครัฐต่อความเหลื่อมล้ำ