การศึกษาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย

การจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนของภาษีจัดเก็บเองที่สำคัญในปัจจุบันคือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นภาษีที่มีการจัดเก็บมาเป็นเวลานานและมีข้อบกพร่องหลายประการ ทำให้ไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้ที่ดีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานชัดเจนและเป็นปัจจุบัน จึงได้เกิดแนวคิดในการยกเลิกการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ และให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน โดยเป็นการจัดเก็บจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บนฐานภาษีที่เป็นมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากราคาประเมินที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บที่ชัดเจน เป็นการจัดเก็บภาษีบนหลักความสามารถในการจ่าย (Ability to Pay Principle) คือใครเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาก ก็เสียภาษีมาก ใครเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน้อย ก็เสียภาษีน้อย ใครไม่มีทีดินและสิ่งปลูกสร้างในครอบครองก็ไม่ต้องเสียภาษี และยังเป็นการจัดเก็บภาษีบนหลักผลประโยชน์ (Benefit Principle) นั่นคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นและให้บริการสาธารณะแก่คนในท้องถิ่น ดังนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในท้องถิ่นนั้น จึงเป็นผู้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว  

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีฐานภาษีที่กว้างขึ้นกว่าการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค