การต่อสู้ทางเศรษฐกิจการเมืองของคณะราษฎรเพื่อสร้างความเป็นธรรม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 การเมืองไทยอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพเป็นอย่างยิ่ง  การต่อสู้-โต้ตอบทางการเมืองกลับไปกลับมาระหว่างกลุ่มผู้ปกครองเดิมกับผู้ปกครองกลุ่มใหม่นั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและรุนแรงตลอดช่วงเวลา 2475-2500 คำถามที่น่าสนใจจึงมีอยู่ว่า หนึ่ง ทำไมทั้งสองฝ่ายจึงมีการต่อสู้อย่างยืดเยื้อตลอดช่วงเวลา 25 ปี โดยไม่มีการประนีประนอมอย่างจริงจังเกิดขึ้น และ สอง เหตุใดทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถประนีประนอมกันได้และต้องสู้กันถึงขั้นแตกหัก ทั้งที่การต่อสู้นั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียประโยชน์จากต้นทุนทางตรงที่ทั้งคู่ได้เสียไปในการต่อสู้ และจากค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นหากการเมืองมีเสถียรภาพ

งานวิจัยฉบับนี้จะมุ่งตอบคำถามทั้งสองข้อข้างต้น  โดยตั้งสมมติฐานว่า แม้ฉากหน้าของการต่อสู้อย่างยืดเยื้อจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่ม “คณะเจ้า” กับกลุ่ม “คณะราษฎร” แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นอาจเป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความพยายามที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรมของคณะราษฎร ทั้งนี้งานศึกษาฉบับนี้จะศึกษาจากหลักฐานเอกสารชั้นสองในประเด็นการปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ระหว่างรัฐกับองค์ประมุข และการปฏิรูประบบสวัดิการสังคม (ด้านการศึกษาและการสาธารณสุข) นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน 2475 จนถึงการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ในเดือนกันยายน 2500 โดยใช้กรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองในสาย “rational choice” ทั้งในแบบเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์