ความเหลื่อมล้ำไทยก่อน หลังโควิด

ความเหลื่อมล้ำไทย 2531 – 2560 โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ

      ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ ได้นำเสนอการศึกษาความเหลื่อมล้ำไทยในปี 2531 – 2560 โดยอาศัยข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ในการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาจะเน้นในมิติเรื่องรายได้ แต่มิติอื่น ๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ทรัพย์สินมักจะพิจารณาแยกกันในการศึกษานี้จะพิจารณาความเหลื่อมล้ำทั้งหกมติได้แก่ รายได้ การศึกษา การสาธารณสุข สินค้าคงทน ทรัพย์สินทางการเงิน และเทคโนโลยี

โดยมิติด้านรายได้นั้น ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มค่อนข้างสูง แต่ในช่วงปี 2530 ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มลดลง โดยขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2547- 2549 จนในช่วงปี 2560 ความเหลื่อมล้ำมีเกณฑ์เพิ่มขึ้นในปี เช่นเดียวกับในปี 2562 ที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกันในแต่ละภูมิภาค จะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีความแตกต่างกับภาคอื่น ทิศทางของความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นในสองภาคนี้ อย่างไรก็ตามภาคอื่นๆ ก็มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่าในสามทศวรรษที่ผ่านมาไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก ในภาพรวม ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ ส่วนในภูมิภาค ภาคเหนือมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าภาคอื่น ๆ

สำหรับด้านสาธารณสุข แม้ประเทศไทยจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูล SES จะพบว่าการที่มีสิทธิแตกต่างกันระหว่างสิทธิข้าราชการ ประกันสังคมและประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้มีความแตกต่างกันในสิทธิทั้งสาม โดยประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้งบโดยเฉลี่ยน้อยที่สุด  และความเหลื่อมล้ำทางค่าใช่จ่ายด้านสาธารณสุขยังถือว่าสูงกว่าด้านรายได้ ในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่กทม.มีความเหลื่อมล้ำสูง

ในส่วนของสินค้าคงทนที่ครัวเรือนมี เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ นำมาสร้างเป็นดัชนีสินค้าคงทน โดยในปี2531 มีความแตกต่างสูงระหว่างคนที่มีสินค้ากับคนทีไม่มี หลังวิกฤตปี 40 อาจมีความแตกต่างสูง แต่หลังจากปรับตัวจากวิกฤตได้ ความเหลื่อมล้ำด้านนี้ก็เริ่มคงที่ ลดลงเล็กน้อย และไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงนัก

ความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์ทางการเงินที่ครัวเรือนมีนั้นเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2549 มีความเหลื่อมล้ำสูง ในขณะเดียวกันในช่วงปี 2549 -2554 ความเหลื้อมล้ำลดลงมาเล็กน้อยไม่ได้ต่างจากเดิม และมีทิศทางลดลง โดยหลังปี 2560 ก็มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น

และด้านสุดท้ายด้านเทคโนโลยีซึ่งทำให้คนมีรายได้ต่างกัน ความเหลื่อมล้ำของการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมีค่อนข้างสูง ในช่วงสองปีท้ายก็ยิ่งปรับตัวสูงขึ้น  ความเหลื่อมล้ำอาจลดลงโดยเฉลี่ยแต่ช่วงปีท้ายๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กล่าวโดยสรุปคือภาพรวมความเหลื่อมล้ำในหกมิติ ความเหลื่อมล้ำมีการปรับลดลง แต่ปีท้าย ๆ กลับเพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติ และทุกภูมิภาค

ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินและเทคโนโลยีมีสูงกว่าด้านรายได้ ด้านการศึกษาจะต่ำกว่ารายได้ โดยสองสามปีหลังมีแนวโน้มไม่ค่อยดีนัก .ความเหลื่อมล้ำแย่ลงแม่รัฐบาลจะพยายามออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด มิติที่เป็นปัญหามากคือด้านทรัพย์สิน เทคโนโลยี และรายได้จากการทำงาน

เมื่อโควิด 19 มาเจอความเหลื่อมล้ำ โดย ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้กลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจมีความเสี่ยงทางด้านการเงินและสุขภาพที่แตกต่ากัน โดยผศ.ดร.เฉลิงพงษ์ได้เสนอ 4 ประเด็นชวนคิดได้แก่

  1. ด้านสาธารณสุข ในประเทศจีน มีการเก็บข้อมูลว่าต้องติดเชื้ออย่างไรคนจะเสียชีวิต ผลการสำรวจพบว่าต้องมีปัญหาสุขภาพบางอย่างก่อนทีจะเสี่ยงทำให้เสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น เมื่อลองพิจารณาว่าในประเทศไทยใครมีปัญหาเรื่องพวกนี้จะพบว่าในคนกลุ่มรายได้ต่ำจะมีโอกาสเสียชีวิตจากโควิดมากกว่า เนื่องจากป่วยจากโรคเบาหวาน ความดันมากกว่า ในขณะที่ทรัพยาการทางการแพทย์กระจายตัวอยู่ในกทม.และปริมณฑล
  2. ด้านการทำงาน ท่ามกลางโควิดคนจำนวนหนึ่งต้องทำงานที่บ้าน แต่มีเพียงร้อยละ20 ของงานในเมืองไทยที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ คนจำนวนมากจึงไม่สามารถทำงานได้ ส่วนคนที่ทำงานได้บางคนก็ทำงานท่ามกลางความเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ พนักงานจนส่งสาธารณะ คนส่งของ งานที่สามารถทำที่บ้านได้นั้นกลุ่มที่จนที่สุดสามารถทำได้แค่ร้อยละ 10 ในขณะที่คนรวยที่สุดสามารถทำงานที่บ้านได้ร้อยละ 37 จึงมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างกันสูง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่างานที่ต้องเสี่ยงออกไปทำข้างนอกผลตอบแทนจะน้อย ในขณะที่คนทำงานที่บ้านได้มีรายได้สูงกว่า โจทย์คือสำหรับคนที่ต้องเสี่ยงออกไปทำงานข้างนอกเราจะบรรเทาผลกระทบของเขาได้อย่างไร สาขาที่ทำงานที่บ้านไม่ได้ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงแรม ขนส่ง กลุ่มคนพวกนี้ได้รับผลกระทบสูง ในขณะเดียวกันสาขาเหล่านี้มีโอกาสหดตัวค่อนข้างสูง โควิดจึงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ทำงานที่บ้านได้กับที่ทำงานที่บ้านไม่ได้
  3. การศึกษา  ในเรื่องของการศึกษานั้นหลายประเทศเลือกผลักดันการศึกษาแบบออนไลน์  แต่ทว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์  ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว มีความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรสูงหากมีการเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ
  4. ในส่วนของความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินก่อนโควิดมีความเหลื่อมล้ำสูง ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์จึงสำรวจดูว่าหากครัวเรือนตกงาน จะสามารถใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ได้กี่เดือน ผลปรากฏว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดมีเพียงร้อยละ 33 ที่สามารถยังชีพอยู่ได้ 3 เดือน ในขณะที่คนรวยมีจำนวนมากกว่าครึ่งที่สามารถยังชีพอยู่ได้จากทรัพย์สนที่ตนมี หากพิจารณาว่าต้องยังชีพ 6 เดือนคนจนที่สุดจะสามารถยังชีพอยู่ได้เพียงร้อยละ20 ในขณะที่คนรวย 1 ใน3  จะสามารถยังชีพอยู่ได้หกเดือนด้วยทรัพย์สินที่มี ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่ว่าคนไทยขาดความรู้ทางการเงิน

ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่เมื่อเจอโควิดจึงจะแย่ลงอย่างยิ่ง คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มที่มีรายได้น้อย ในการแก้ปัญหาอาจใช้การพยุงตัวธุรกิจและแรงงานไปพร้อม ๆ กัน โดยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย หลังโควิดจบลงอย่างน้อยคนได้ทำงานที่บริษัทเดิม ได้ทำงานที่เดิม เป็นแนวทางที่ฝรั่งเศสใช้ ส่วนอีกวิธีคือการให้คนได้รับผลกระทบได้ใช้จ่ายโดยตรง แต่จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างนายจ้าง ดังที่สหรัฐอเมริกาและไทยเลือกใช้ ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เมื่อโควิดหยุดระบาดจะมีปัญหาเรื่องของการจ้างคนกลับเข้าไปทำงาน นอกจากนี้ยังมีประเด็นชวนคิดในเรื่องของปัญหาความล่าช้าไม่ทั่วถึงของการจ่ายเงินเยียวยาว่าจะจัดการอย่างไร อาจต้องใช้เวลาเป็นประเด็นที่ต้องคิดว่าจัดการอย่างไรให้ดีขึ้น ประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องคิดถึงก็คือระบบสาธารณสุขที่เพียงพอ คนสามารถไปต่อได้ ตั้งเป้าช่วยเหลือให้ถูกกลุ่ม ประเด็นเรื่องUniversal Basic Income (UBI) รวมถึงกลยุทธ์ในการใช้นโยบายการเงินการคลัง และหากจะหาเงินมาชดเชยการขาดทุนจะมีระบบภาษีที่ยุติธรรมอย่างไรในอนาคต