โควิด 19 กับการออกแบบระบบสวัสดิการใหม่

ประวัติศาสตร์การสวัสดิการในประเทศไทย โดย ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล

ตามข้อค้นพบในบริบทประวัติศาสตร์รัฐไทยถูกนิยามว่าเป็น weak state ในเรื่องบทบาทด้านสวัสดิการเนื่องมาจากการที่รัฐมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรไม่สามารถกระจายทรัพยากรและอำนาจในการปกครองดูแลได้ครบถ้วน เมื่อจัดสรรทรัพยากรเป็นสวัสดิการให้คนกลุ่มน้อยแล้วก็ไม่เหลือสวัสดิการจะจัดสรรให้คนกลุ่มใหญ่ ดังนั้นสังคมไทยปรับตัวสร้างระบบการกุศลขึ้นมาเป็นสวัสดิการชั้นที่สองรองรับผู้ที่ตกหล่นไม่ได้สวัสดิการภาครัฐ นอกเหนือจากกลุ่มการกุศลแล้วสังคมไทยยังมีสถาบันครอบครัว(และชุมชน)เป็นสวัสดิการรองรับเป็นชั้นที่สามสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการสองประเภทก่อนหน้า

อย่างไรก็ดีเมื่อระบบเศรษฐกิจพัฒนามากขึ้นเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ครอบครัวและชุมชนไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะวางตัวเป็นสถาบันสวัสดิการรองรับลำดับสุดท้าย เนื่องมาจากลักษณะของความเป็นปัจเจกที่สูงขึ้น ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ประกอบกับบริบททางการเมืองเศรษฐกิจโลกหลัง 1980 รัฐต้องลดบทบาทในการให้สวัสดิการลง และต้องปล่อยให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผ่านการสร้างสถาบันอย่างกองทุนประกันสังคม

ภายหลังการเกิดวิกฤตในปี 1997 ส่งผลให้บริษัทปิดตัวแรงงานถูกเลิกจ้างงาน กองทุนประกันสังคมไม่สามารถแบกรับสภาวะวิกฤตแรงงานได้ ประกอบกับสถาบันครอบครัวและชุมชนไม่เข้มแข็งเพียงพอจะรองรับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ได้ ในหลายประเทศจึงกลับมาให้ความสำคัญในสิทธิสวัสดิการมากขึ้น ให้รัฐเข้าไปช่วยจัดสรรสวัสดิการให้กับภาคประชาชนโดยหาแหล่งทุนจากระบบภาษี แต่ในประเทศไทยนั้นมีทิศทางที่ต่างออกไปกล่าวคือทุกครั้งที่มีรัฐประหารการจัดสวัสดิการภาครัฐจะย้อนกลับไปใช้ระบบการจัดสรรแบบ authoritarian ซึ่งจัดสรรให้เฉพาะคนกลุ่มน้อย

สวัสดิการที่ควรเป็นในช่วงวิกฤตโควิด 19 โดย ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล

ในหลักคิดเบื้องต้นหากจะออกแบบสวัสดิการต้องวางเป้าหมายเพื่อ “ทำให้สวัสดิการสังคมไม่แย่ลงมากนักโดยไม่ติดโรค และต้องพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป” เมื่อได้เป้าหมายก็ต้องมาพิจารณาเครื่องมีในการจัดสรรสวัสดิการนั้นๆ ควรให้เป็นเงินหรือสิ่งของ การให้เป็นเงินสภาพคล่องสูง แต่ผลที่ตามมาอาจจะทำให้เกิดเงินเฟ้อหากอัดฉีดมากเกินไป นอกจากนี้ให้เป็นเงินอาจจะไม่มีประโยชน์มากนักถ้ากลไกตลาดไม่ทำงานในช่วงวิกฤต ในขณะที่การให้ของอาจจะยากที่จะตรงความต้องการ แต่ในพื้นฐานรัฐอาจจะต้องให้แบบผสม เช่น ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย น้ำ ไฟฟ้า หรือเครดิตออนไลน์

นอกจากนี้ต้องมาพิจารณาเป้าหมายที่เราจะให้ว่าควรเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีข้อมูลติดตามและมั่นใจว่าสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบในพื้นที่จำกัดการให้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดี หรือจะให้แบบถ้วนหน้าซึ่งแต่ละคนก็จะได้น้อยลงไป แต่เหมาะสมกับสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างและต้องรีบดำเนินการเร่งด่วนในการเยียวยา ซึ่งเหมาะกับสภาวะสภาพปัจจุบันมากกว่า

ส่วนมาตรการในการพยุงสังคมจะแบ่งออกเป็น ระยะสั้น(ช่วงคุมการแพร่กระจายยังไม่ได้) ระยะกลาง(ช่วงคุมการแพร่กระจายได้แล้วแต่ยังไม่มีวัคซีน) ระยะยาว(ช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ) ในระยะสั้นมุ่งเป้าหมายไปที่การให้ความสำคัญสุขภาพมากกว่าเศรษฐกิจการสวัสดิการเน้นป้องกันโรคอุปกรณ์ป้องกันโรคต้องไม่ให้ขาด แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือรัฐไทยเตรียมพร้อมได้ช้า และการสื่อสารสู่ประชาชนมีปัญหา ในระยะกลางต้องรับมือหากเกิดการระบาดระลอก / ผ่อนคลายให้ธุรกิจบางส่วนเปิดได้แต่ต้องมีมาตรฐานในการอนุญาตให้เปิด สร้างระบบการกระจายวัคซีนป้องกันตลาดมืด ในระยะยาวเมื่อสังคมมีภูมิคุ้มกันโรคแล้วต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก เข้ามาจัดการความเหลื่อมล้ำเนื่องจากกลุ่มรวยสุดกับกลุ่มจนสุดได้รับผลกระทบทำให้มีสถานะที่ต่างกันมากขึ้น

ส่วนในเรื่องที่การเกิดขึ้นของ platform economy นั้นส่งผลกระทบต่อระบบสวัสดิการกล่าวคือ ทำให้ลักษณะการจ้างงานเปลี่ยนไป มีแรงงานที่ตกหล่นจากระบบกองทุนประกันสังคมจำนวนมากเนื่องจากถูกนิยามว่าเป็น self-employed ซึ่งไม่มีประกันสังคมกับคนกลุ่มนี้ โดยช่วงวิกฤตที่แรงงานต้องออกจากระบบงานปกติจะหันไปประกอบอาชีพใน platform economy มากขึ้น ระบบสวัสดิการเพื่อคนกลุ่มนี้จึงต้องกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยข้อเสนอในต่างประเทศมีการสร้างกองทุนประกันสังคมที่มีหลากหลายกองทุนส่งผลให้ครอบคลุมลักษณะของแรงงาน platform economy

ในเรื่องของ UBI (Universal Basic Income) เหมาะสมจะใช้เป็นนโยบายที่สำคัญในการรองรับสวัสดิการประชาชนไหมหลังการเกิดโควิด 19 วิทยากรมองว่าหากมีการสร้าง UBI จะส่งผลให้สวัสดิการและนโยบายอื่นๆถูกสนับสนุนน้อยลง การดำเนินนโยบายตามต่างประเทศโดยไม่มีการแก้ไขโครงสร้างสถาบันทางสังคม กลายเป็นรัฐสวัสดิการโดยที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันจะเป็นไปได้ยากที่จะสร้างผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกับประเทศต้นแบบ รัฐสวัสดิการเป็นมากกว่านโยบายจะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่เหมาะสมด้วย