
โดย
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดี คณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง
เริ่มต้นกับการคำถามที่ว่าโควิดมีปัญหากับเด็กปฐมวัยอย่างไร สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นมีการปิดเรียนก่อนโรคระบาด อ.วีระชาติเสนอว่าควรเปิดเทอมและมีวิธีการเปิดเทอมหลายแบบ เช่น เปิดโรงเรียนขนาดเล็กก่อน เนื่องจากกลุ่มเด็กปฐมวัยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ และโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กนักเรียนน้อย ไม่ได้มีความแออัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลกระทบทางอ้อมมากกว่า เช่น ผู้ปกครองอาจขาดรายได้ ผู้ปกครองอาจมีความเครียดสูง อาจส่งผลให้เด็กเครียดได้
หากเปิดเทอมไม่ได้ในระยะสั้นอาจไม่มีอะไรน่าห่วงในเรื่องของการเรียนรู้ แต่ที่สำคัญคือผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนช่วยให้ทั้งความรู้และแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ช่วยให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้มากขึ้น เมื่อทำงานไม่ได้ก็อาจขาดรายได้ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อพัฒนาการของเด็กได้ ซึ่งปัญหาระยะยาวนั้นน่าเป็นห่วงและการเรียนออนไลน์อาจไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอกับเด็กปฐมวัย เนื่องจากทักษะทางพฤติกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญซึ่งพัฒนาผ่านปฏิสัมพันธ์ในโรงเรียน อย่างไรก็ตามผู้ปกครองควรเลือกได้ว่าจะส่งเด็กไปโรงเรียนได้หรือไม่ ทั้งนี้การเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นส่งผลต่อการพัฒนาทางพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยน้อยมาก
ในส่วนของการเรียนออนไลน์นั้นจากการสำรวจครูส่วนใหญ่มีความกังวลไม่เข้าใจว่าบทบาทของตนต้องทำอย่างไร ผู้ปกครองมองว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลกระทบมาก แต่ในระยะยาวก็มีความกังวลมาก ส่วนในเรื่องของการแจกแทบเลตนั้น ผู้ปกครองมีความต้องการได้เงินสดมากกว่าแทบเลต ที่น่าสนใจคือผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวที่อาศัยเงินส่งกลับบ้านเป็นหลักแล้วได้รับเงินน้อยลง ครอบครัวส่วนใหญ่มีสมาชิกที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ และครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง
อ.วีระชาติยังเสนอว่าหากเปิดโรงเรียนได้ก็ควรทำ เปิดโรงเรียนโดยมีมาตรการรองรับ ควรให้คนมีโอกาสออกมาทำงาน กระทรวงศึกษาธิการควรจะมีการสุ่มตรวจเด็กประถม มัธยมเพื่อจะเข้าใจความเสี่ยงในโรงเรียน ในการพัฒนาผู้ปกครองก็เป็นสิ่งที่ควรทำ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากสุดอาจเป็นปู่ย่าตายายที่ต้องดูแลหลาน การส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ต้องมีการทดลองโครงการกัน
ในเรื่องของการเปิดโรงเรียนชุมชนควรจะเข้ามาช่วย น่าจะมีสิทธิพิจารณาว่าจะเปิดโรงเรียนหรือไม่มากกว่าหน่วยงานอื่น ต้องตระหนักว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงต่างกัน จะใช้นโยบายแบบ one size fit all ไม่ได้ บางกลุ่มยอมรับความเสี่ยงได้ บางกลุ่มรับไม่ได้ ต้องเปิดโรงเรียนโดยคิดเสมอว่าแต่ละกลุ่มยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน และต้องให้ผู้ปกครองมีทางเลือก ควรให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเป็นผู้เลือก ประเมินความเสี่ยงเป็นกลุ่มไปในการเปิดโรงเรียน
โรงเรียนในชนบทควรเปิดและยืดหยุ่นเรื่องการเปิด โรงเรียนขนาดเล็กและกลางอาจเปิดเดือนมิถุนายน มีการตรวจเชื้อเป็นระยะ แต่ต้องให้ผู้ปกครองเลือกว่าจะส่งลูกไปเรียนหรือไม่ ออกแบบให้เหมาะสมกับคนที่รับความเสี่ยงได้หรือไม่ได้ ต่อให้ประกาศว่าเปิดเทอมแล้วเด็กก็สามารถนั่งเรียนที่บ้านได้ การศึกษาต้องเข้าไปช่วยครอบครัวแบ่งเบาผลกระทบที่จะเกิดกับครอบครัวด้วย ควรระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการเปิดเรียน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท
การปิดเทอมจะยาวนานมากขึ้นเป็นเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม กสศ.ไปทำการสำรวจผลกระทบและความต้องการช่วยเหลือจากโควิด 19 พบว่าผู้ปกครองมีรายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น ถูกพักงาน ต้องแบ่งเบาภาระญาติพี่น้อง ถ้าเปิดเทอมก็กลัวว่านักเรียนจะติดเชื้อ หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อาจไม่มีค่าเทอม ไม่มีค่าอุปกรณ์การเรียน ครูและผู้ปกครองต้องการค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าของใช้จำเป็นกสศ.จึงจะจัดสรรเงินให้กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนทุนเสมอภาค ระดับชั้นประถามศึกษาปีที่ 1- 6 ประมาณ 500,000 คน จัดสรร 600 บาทต่อคน โดยช่วยเหลือในด้านข้าวสาร ไข่ไก่ ปลากระป๋อง น้ำมันพืช สบู่ และค่าบริหารจัดการสำหรับโรงเรียนซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเยียวยาของกสศ.ในช่วงปิดเทอม
แต่ถ้าเปิดเทอมแล้วการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนจะส่งผลต่อโภชนาการ สุขภาพของนักเรียน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวเด็ก เมื่อพ่อแม่หยุดงานก็ต้องพาลูกกลับบ้านไปด้วย อาจทำให้ลูกไม่ได้กลับมาเรียนจะกระทบต่อโอกาสในการศึกษาของเด็ก เป็นลักษณะที่เกิดกับเด็กในครอบครัวเปราะบาง ก่อนมีโควิดเด็กมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างมาก ช่องว่างทางการเรียนรู้ของเด็กมีมาก หากอยู่บ้านมากขึ้นก็จะเกิดช่องว่างมากขึ้นอีก ต้องมีการปรับปรุงการเรียน การสอนรองรับนักเรียนที่กลับเข้ามาในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีเด็กที่บกพร่องในการเรียนรู้ มีความจำเป็นพิเศษ ครูต้องสนับสนุนกเรียนของเด็กเหล่านี้ ยังมีเรื่องมีต้องคิดพิจารณาอีกหากเด็กต้องเรียนที่บ้าน เด็กจะทานอาหารอย่างไร เด็กที่ยากจนพิเศษจะไม่ได้ทานอาหารเช้า ขาดสารอาหาร ถ้าเด็กเหล่านี้ต้องเรียนออนไลน์จะจัดส่งอาหารให้เด็กเหล่านี้ได้อย่างไร จะมีการจัดการเรื่องอาหารให้เด็กอย่างไร
ในเรื่องของอารมณ์จิตใจ ความเครียด เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเจอเพื่อนจะเครียดได้ ต้องมีการเตรียมประสานงานกับเด็ก และผู้ปกครอง มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กให้ครูคัดกรองหรือหาอาการบ่งชี้เหล่านี้แล้วแก้ปัญหาได้ จำเป็นต้องคุ้มครองเด็กปกป้องไม่ให้สภาพจิตใจแย่ไปกว่านี้ มิฉะนั้นอาจไปสู่ปัญหารุนแรงในอนาคต ท้ายที่สุดเด็กอาจหลุดออกจากระบบการศึกษาได้
ในเรื่องของการเปิดโรงเรียนนั้น การเปิดเรียนมีหลายแบบ ไม่ควรเป็นแบบเดียวเหมือนกันทั่วประเทศ แต่ละภาคส่วนควรช่วยกันออกแบบ ช่วยกันคิด ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และมาตรการป้องกันโรค แต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดควรแลกเปลี่ยนกัน การที่โรงเรียนเปิดได้พ่อแม่จะเข้าตลาดแรงงานได้ปกติมากขึ้น ลดผลกระทบโควิดต่อครอบครัวได้มากขึ้น โรงเรียนควรออกแบบการเปิดเรียนให้สอดคล้องกับบริบท การเปิดหรือปิดโรงเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่ทำไม่ได้ ทุกเรื่องต้องยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวกับความไม่แน่นอน แต่กระทรวงศึกษาควรมีกติกาในการเปิด ปิดโรงเรียน เพราะมันกระทบการรับเข้าเรียนในทุกระดับชั้น
สำหรับในกลุ่มเด็กเปราะบางครู กับผู้บริหารศึกษาควรไปติดตาม ต้องมีการทำรายงานว่าทำไมเด็กมาหรือไม่มาเรียน ต้องแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี มีการช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นกรณี ๆ ไป โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงของการระบาดอาจให้เด็กนักเรียนไปเรียนสลับกัน ในเรื่องของอาหารกลางวันนั้นจะต้องจัดสรรให้เด็กเข้าถึงได้รับสารอาหารเหมือนตอนที่เข้ามาเรียน ทั้งนี้ต้องมีความยืดหยุ่นให้โรงเรียนและครูทำงานได้ แก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริง ทั้งนี้ต้องมีการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อตอบโจทย์นโยบายที่รวดเร็ว ต้องมีการสร้างมาตรการที่มาจากพื้นที่จริง สถาบันวิจัยต่าง ๆ ต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานหลักของประเทศ เพื่อมาสร้างข้อเสนอเขิงนโยบายตอบโจทย์ได้รวดเร็ว ให้ได้ข้อมูลว่าการเรียนการสอนแบบไหนจะตอบโจทย์ในสถานการณ์เช่นนี้ และควรมีการกระจายอำนาจให้พื้นที่ โรงเรียนควรหาทางออกให้กับเด็กทุกกลุ่ม ซึ่งต้องมีลักษณะยืดหยุ่น เป็นมาตรการที่มีมาตรฐานแต่ปรับตามสภาพจริงได้