Research

การศึกษาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย

การจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนของภาษีจัดเก็บเองที่สำคัญในปัจจุบันคือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นภาษีที่มีการจัดเก็บมาเป็นเวลานานและมีข้อบกพร่องหลายประการ ทำให้ไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้ที่ดีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานชัดเจนและเป็นปัจจุบัน จึงได้เกิดแนวคิดในการยกเลิกการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ประเภทนี้ และให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน โดยเป็นการจัดเก็บจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บนฐานภาษีที่เป็นมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากราคาประเมินที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บที่ชัดเจน เป็นการจัดเก็บภาษีบนหลักความสามารถในการจ่าย (Ability to Pay Principle) คือใครเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาก ก็เสียภาษีมาก ใครเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน้อย ก็เสียภาษีน้อย ใครไม่มีทีดินและสิ่งปลูกสร้างในครอบครองก็ไม่ต้องเสียภาษี และยังเป็นการจัดเก็บภาษีบนหลักผลประโยชน์ (Benefit Principle) นั่นคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นและให้บริการสาธารณะแก่คนในท้องถิ่น ดังนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในท้องถิ่นนั้น จึงเป็นผู้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว   การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีฐานภาษีที่กว้างขึ้นกว่าการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค

การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ

จากการที่ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ และกระบวนการพัฒนาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนอกจากจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ดัชนีชี้ระดับการพัฒนาในหลายหมวดหมู่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการยกระดับที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าดัชนีในระดับมหภาคจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงการกระจายตัวของการพัฒนาจะพบว่า เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพและปริมณฑลกับจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงประกอบด้วยสองส่วนหลัก โดยในส่วนแรกมุ่งเน้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในรูปแบบของข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (เช่น สำมะโนประชากรและการเคหะ  สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรฯลฯ) และข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมสำรวจ ซึ่งแสดงถึงคุณสมบัติทางกายภาพของพื้นที่ โดยในปัจจุบัน ข้อมูลจากดาวเทียมได้รับการพัฒนาให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และมีข้อได้เปรียบในด้านของความละเอียดเชิงพื้นที่และความทันสมัยของข้อมูล  ในส่วนที่สองของงานวิจัย จะเป็นการนำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จัดสร้างขึ้นมาใช้วิเคราะห์ร่วมกับวิธีการคำนวณทางภูมิสถิติ (Spatial Statistics) และภูมิเศรษฐมิติ (Spatial Econometrics)  ซึ่งจะเป็นแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของข้อมูลภูมิสารสนเทศและเครื่องมือวิเคราะห์ทั้งสองประเภท ซึ่งช่วยให้เห็นถึงคุณลักษณะของตัวแปรต่างๆ ในมิติเชิงพื้นที่ รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวหรือกระจายตัวของข้อมูล ดังนั้นงานวิจัยนี้จะเป็นการวางรากฐานทั้งในด้านการจัดเตรียมฐานข้อมูล และนำเสนอเครื่องมือวิเคราะห์ที่สามารถเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการวิเคราะห์ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนักวิจัยอื่นๆ สามารถนำข้อมูลและเครื่องมือมาใช้ต่อยอดงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต    เอกสารประกอบการบรรยาย วันที่ 9 กันยายน 2562 | ณ ห้องกมลฤดี ชั้น ๒ โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร

การศึกษาตัวชี้วัดแนวโน้มความเหลื่อมล้ำและความกินดีอยู่ดีของครัวเรือนในประเทศไทย

ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ภาครัฐในประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจัง เนื่องจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวโดยบรรจุเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อย่างไรก็ตามความเหลื่อมล้ำที่ทางภาครัฐติดตามและประเมินผลของนโยบายจะเน้นหลักที่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การศึกษาและสาธารณสุข ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำมีมิติที่ค่อนข้างกว้าง และมีความหลากหลายของตัวชี้วัด  ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความตั้งใจในการศึกษาประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ และนำเสนอนโยบายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ ทางศูนย์ฯ จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ในงานวิจัยนี้ นักวิจัยจะสำรวจความรู้เกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนฐานข้อมูลในประเทศที่จะช่วยให้นักวิจัยอื่น ๆ ในศูนย์ ตลอดจนบุคคลภายนอกได้ใช้ในการติดตามและประเมินความสำเร็จของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่แนวคิดเบื้องต้นที่ทางนักวิจัยนำมาใช้ได้แก่แนวทางของ Stiglitz และคณะ (2009) Hall และคณะ (2010) และ OECD (2011) ในการพัฒนาตัวชี้วัดที่ประเมินมาตรฐานการครองชีพด้านวัตถุและความอยู่ดีกินดี นอกจากนี้งานวิจัยนี้พยายามที่จะนำเสนอการสร้างดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำหลากมิติ (multidimensional inequality index) เพื่อใช้สะท้อนภาพรวมของความเหลื่อมล้ำ และใช้ในการประเมินผลของการดำเนินนโยบายภาครัฐต่อความเหลื่อมล้ำ

1 2