จากการที่ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ และกระบวนการพัฒนาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนอกจากจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อประชากรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ดัชนีชี้ระดับการพัฒนาในหลายหมวดหมู่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการยกระดับที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าดัชนีในระดับมหภาคจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงการกระจายตัวของการพัฒนาจะพบว่า เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพและปริมณฑลกับจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงประกอบด้วยสองส่วนหลัก โดยในส่วนแรกมุ่งเน้นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในรูปแบบของข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (เช่น สำมะโนประชากรและการเคหะ สำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรฯลฯ) และข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมสำรวจ ซึ่งแสดงถึงคุณสมบัติทางกายภาพของพื้นที่ โดยในปัจจุบัน ข้อมูลจากดาวเทียมได้รับการพัฒนาให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และมีข้อได้เปรียบในด้านของความละเอียดเชิงพื้นที่และความทันสมัยของข้อมูล
ในส่วนที่สองของงานวิจัย จะเป็นการนำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จัดสร้างขึ้นมาใช้วิเคราะห์ร่วมกับวิธีการคำนวณทางภูมิสถิติ (Spatial Statistics) และภูมิเศรษฐมิติ (Spatial Econometrics) ซึ่งจะเป็นแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของข้อมูลภูมิสารสนเทศและเครื่องมือวิเคราะห์ทั้งสองประเภท ซึ่งช่วยให้เห็นถึงคุณลักษณะของตัวแปรต่างๆ ในมิติเชิงพื้นที่ รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวหรือกระจายตัวของข้อมูล ดังนั้นงานวิจัยนี้จะเป็นการวางรากฐานทั้งในด้านการจัดเตรียมฐานข้อมูล และนำเสนอเครื่องมือวิเคราะห์ที่สามารถเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการวิเคราะห์ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนักวิจัยอื่นๆ สามารถนำข้อมูลและเครื่องมือมาใช้ต่อยอดงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต