
ตัวแทนจากเอสเอ็มอี โดย สรวิศ อิสระโคตร
เสียงจากตัวแทนของเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีจะมาเล่าประเด็นที่สำคัญ 2 ประเด็นคือ วิธีการปรับตัวของกิจการภายใต้ภาวะวิกฤต และทัศนะต่อการช่วยเหลือของภาครัฐ ในประเด็นแรกกิจการของวิทยากรนั้นต้องพบกับสภาวะการขาดแคลนรายได้เนื่องจากอัตราการสั่งซื้อสินค้าของบริษัทลดลงถึง 50% ส่งผลให้กระบวนการผลิตต้องลดลง อย่างไรก็ดีทางออกในการปรับตัวโดยไม่ปลดคนงานของวิทยากรนั้นมีการปรับงานที่แรงงานทำชั่วคราว จากส่วนการผลิตไปสู่การบำรุงรักษาสถานประกอบการเพื่อรอสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์คู่ค้าในประเทศจีนเริ่มดีขึ้นบ้างส่งผลให้ทางบริษัทเริ่มเห็นโอกาสอันดีในอนาคตอันใกล้
ส่วนเรื่องของนโยบายเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการมองว่ายังไม่ตอบสนองต่อปัญหาได้ตรงจุดมากนัก ประการแรกการเลื่อนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนโยบายการหักค่าใช้จ่ายส่วนค่าจ้างได้ 3 เท่านั้นไม่ตรงจุดเนื่องจากกิจการไม่มีรายได้ที่จะเสียภาษีอยู่แล้ว ประการที่สองรัฐออกมาตรการช่วยเหลือช้าไปไม่สามารถช่วยธุรกิจในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดได้ทัน ทั้งนี้วิทยากรเห็นว่านโยบายที่ควรจะใช้ได้แก่การสนับสนุนด้วย soft loan
การถกเถียงในวงการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอเมริกา โดย ดร.สิร นุกูลกิจ
ในส่วนนโยบายการพยุงเศรษฐกิจของอเมริกานั้น จากการทำข้อมูลของวิทยากร พบว่ารัฐบาลอเมริกาได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทั้งนี้สัดส่วนรายจ่ายที่มุ่งเป้าเป็นเงินโอนรายหัว(ให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี คนละ 1,200 เหรียญสหรัฐ)ใช้จ่ายประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รายจ่ายที่มุ่งเป้าไปที่บริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายจ่ายที่มุ่งสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การที่รัฐบาลใช้จ่ายสนับสนุนบริษัทใหญ่จำนวนมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทำให้เป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรง
ทั้งนี้ในวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ของอเมริกานั้น ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด 19 ขึ้นแนวโน้มของนักวิชาการด้านการเงินจะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อ(Inflation Targeting) โดยธนาคารกลางจะออกนโยบายที่ถ่วงดุลย์นโยบายการคลังป้องกันไม่ให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นแนวโน้มการถกเถียงเรื่องนโยบายนั้นมองข้ามปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ยอมรับได้กับการขาดดุลทางการคลัง ลดดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพยุงตราสารทุนภาคเอกชน
เศรษฐศาสตร์สำนักนโยบายการเงินสมัยใหม่(Modern Monetary Theory) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เป็นสำนักที่ขึ้นมามีอิทธิพลในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเน้นให้รัฐเข้าไปพยุงเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในสาธารณูปโภคเช่น การส่งเสริมสวัสดิการด้านการศึกษาและบริการสาธารณสุขอย่างถ้วนหน้าซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งเป็นการป้องกันภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพของพลเมืองให้ดีขึ้น และผ่อนผันให้มีการขาดดุลทางการคลัง 10-15% โดยให้ธนาคารกลางช่วยส่งเสริมสถานะทางการคลังของรัฐบาล
ทุนนิยมกับการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.ธนเดช เวชสุรักษ์
สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากมาตรการป้องกันการแพร่ขยายของไวรัสโควิด 19 เป็นวิกฤตที่แหลมคมที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ประการแรกอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้นกว่า 10 เท่าของอัตราการว่างงานในปี 2008 ประการที่สอง GDP ในระดับโลกคาดการณ์ว่าอย่างน้อยจะติดลบ 4.2% เทียบกับปี 2009 ที่มีอัตราการถดถอยของ GDP ระดับโลกที่ 1.6% ประการสุดท้ายมหาอำนาจของโลกอย่างประเทศจีนและอเมริกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งคู่ ในขณะที่ช่วงปี 2009 ประเทศจีนฟื้นตัวได้เร็วเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวมากนัก โดยสรุปวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อาจรุนแรงพอๆ กับช่วงวิกฤตปี 1930(The Great Depression) โดยวิกฤตนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของทุนนิยมสามอย่างคือ ปัญหาในการจัดการภาวะวิกฤต ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความร่วมมือระหว่างประเทศ
ในประเด็นแรกนั้นอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่พยายามที่จะต่อต้านการแทรกแซงของภาครัฐและปล่อยให้ตลาดเป็นตัวจัดการปัญหาการกระจายทรัพยากร ในกรณีเครื่องช่วยหายใจเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาในการใช้ระบบตลาดในการจัดการกระจายทรัพยากรได้ชัดเจน กล่าวคือในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ส่งผลให้เครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ แต่ละรัฐจึงต้องแข่งกันประมูลเพื่อให้ได้เครื่องช่วยหายใจมาใช้ในโรงพยาบาล ส่งผลให้รัฐเล็กๆที่ไม่มีงบมากนักไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ได้เพียงพอ และรัฐไม่สามารถใช้อำนาจในการบังคับให้บริษัทหันไปผลิตอุปกรณ์ที่สำคัญในภาวะวิกฤตนี้ ด้วยเหตผลว่าระบบตลาดจะอยู่ในสภาวะ panic หากภาครัฐเข้ามาแทรกแซง
ในเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น ในข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อพบว่าเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันถึงประมาณ 30% ของผู้ป่วย ในขณะที่ชาวแอฟริกันอเมริกันนั้นคิดเป็นสัดส่วนประชากรประมาณ 13% เท่านั้น วิกฤตนี้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่ผู้ที่ไม่มีอภิสิทธิ์ทางสังคมคือผู้ที่รับเคราะห์เป็นสัดส่วนที่หนักกว่า
ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ พบว่าสถาบันองค์กรระหว่างประเทศที่ถูกสร้างมานั้นกลับไม่ได้ตอบสนองต่อวิกฤตได้เท่าที่ควร ในช่วงวิกฤตนี้มีผู้ที่พยายามเสนอให้ IMF จัดสรรเงินเข้าเป็นกองทุน SDR(Special Drawing Right) ให้กับประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาในสภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากถึงแม้ในปัจจุบันแต่ละประเทศจะสามารถดึงเงินจากกองทุน SDRs ได้เมื่อจำเป็น แต่ประเทศพัฒนาแล้วนั้นมีโควตาส่วนใหญ่(60%)ในการดึงเงินทุนจากกองทุนนี้
สภาวะวิกฤตนี้นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อระเบียบโครงสร้างของทุนนิยม ทุนนิยมจะมีการปรับตัวอย่างไรต่อภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ โดยมีความเป็นไปได้ 3 เส้นทางคือ สถานการณ์แรกระเบียบทุนนิยมคงเดิมแต่อยู่ในสภาวะซอมบี้แบบที่เกิดขึ้นหลังปี 2008 สถานการณ์ที่สองกลับไปสู่โครงสร้างแบบ Bretton Woods สถานการณ์สุดท้ายคือโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เลย