
โลกของ top 1%
กลุ่มคน top 1% ในประเทศไทยนั้นมีประมาณ 5.2 แสนคนจากจำนวนคนไทยในกำลังแรงงาน 52 ล้านคน แต่ในกลุ่ม top 1% ก็มีความแตกต่างหลากหลายรวมทั้งความเหลื่อมล้ำในกลุ่มอยู่แบ่งเป็นกลุ่มมหาเศรษฐีซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็ก(เป็น top 1% ของกลุ่ม top 1%)ซึ่งมีรายได้ส่วนมากมาจากปัจจัยทุน และกลุ่มคนรายได้สูงที่มีรายได้จากส่วนแรงงานมากกว่ากลุ่มก่อนหน้า เช่น ผู้บริหารองค์กรระดับสูง CEO
จะเห็นได้ว่าแม้แต่กลุ่มคนที่รวยที่สุดยังมีความเหลื่อมล้ำภายในกลุ่ม เราจึงต้องย้อนกลับมาพิจารณาดัชนีที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำอย่างดัชนี GINI ซึ่งดัชนี GINI นั้นถึงแม้จะบอกภาพรวมความเหลื่อมล้ำระดับประเทศได้ แต่ไม่สามารถบ่งบอกลักษณะของความเหลื่อมล้ำภายในกลุ่มชนชั้นและระหว่างชนชั้นได้ รวมถึงไม่ได้บอกถึงพลวัตรของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันการเติบโตของคนกลุ่มรายได้ที่รวยที่สุด 1-2% แรกนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วสร้างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น GINI ไม่ได้ชี้ให้เห็นภาพนี้ได้ชัดเจนนัก ในหลายประเทศจึงมีการสร้างดัชนีมาพิจารณาคนกลุ่มที่รวยที่สุด เช่น การเทียบทรัพย์สินหรือรายได้ของคนที่รวยที่สุด 1% เทียบกับกลุ่มคนที่จนที่สุด 50% แต่อย่างไรก็ตามในการสร้างดัชนีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ต้องพบอุปสรรคที่สำคัญเนื่องจากการสำรวจรายได้มักจะตกหล่นการสำรวจกลุ่มคนที่รวยที่สุด เนื่องจากอาจจะไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่สามารถรายงานสินทรัพย์และรายได้ที่ตัวเองมีทั้งหมดได้ครบ
ประวัติศาสตร์ของ top 1%
เมื่อย้อนกลับมาดูแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำและพลวัตรของกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% ตามประวัติศาสตร์แล้วนั้น พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีสงครามโลกนั้น ในประเทศยุโรปมีความเหลื่อมล้ำสูงคนกลุ่มที่รวยที่สุด 1% ครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจถึง 15-20% พอหลังจากสงครามความเหลื่อมล้ำลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ คนที่รวยที่สุด 1% ครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจลดลงเหลือ 5-10% อย่างไรก็ตามภายหลังจากช่วงศตวรรษที่ 1970 ความเหลื่อมล้ำกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่อีกครั้งโดยช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดคนที่รวยที่สุด 1% ครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 10-20%
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มความเหลื่อมล้ำเป็นผลมาจาก shock หลังสงครามโลกสภาพเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะนอกระเบียบที่เคยเป็นมา รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายภาครัฐให้เข้ามาเก็บภาษีทรัพย์สินของคนรวยเพื่อนำมาเป็นทุนในการฟื้นฟูประเทศ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ในทางตรงกันข้ามนั้นภายหลังศตวรรษ 1970 บทบาทของตลาดและทุนสูงมากขึ้นจากอุดมการณ์ตลาดเสรีตามแนวทาง Neo-Liberalism ทุนมีอิสระเสรีที่จะโยกย้ายไปแสวงหาพื้นที่ที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า ทุนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำกลับมาพุ่งสูงขึ้น สิ่งที่น่าขบคิดประการหนึ่งคือวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น จะนำมาสู่การทบทวนของกลุ่มผู้มีอำนาจในการจัดการกับภาวะหนี้สินที่เกิดขึ้น และปฏิบัติกับกลุ่มมวลชนอย่างไร จะสร้างการกระจายรายได้เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกหรือไม่
แนวโน้มความร่ำรวยของกลุ่ม top 1%
ในประเทศไทยนั้นแนวโน้มของรายได้ของกลุ่มรวยที่สุด 1% มีแนวโน้มที่จะเติบโตเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆในเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่สินทรัพย์ในปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น(ทั้งจากราคาและปันผล)จากการเปิดเสรีและความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายทุน ในปัจจุบันนั้นผลตอบแทนที่เกิดจากปัจจัยทุนนั้นเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ผลตอบแทนที่เกิดจากการทำเกษตรหดตัวลงเล็กน้อย ส่งผลให้ถึงแม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ในระดับที่ใกล้เคียงกัน นายทุนสามารถแสวงหากำไรได้สูงขึ้น แต่รายได้ของแรงงานลดลง

จากภาพมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 50 อันดับแรก รวยขึ้นมากกว่า 50% จากในปี 2014-2018

รายได้ของกลุ่มคนรวยส่วนมากมักมาจากทุน จากกราฟสัดส่วนรายได้ที่มาจากแรงงานจะเห็นได้ว่าเมื่อยิ่งรวยขึ้นสัดส่วนรายได้ที่มาจากแรงงานจะลดลง
เช่น เส้นสีฟ้าอ่อน(ข้อมูลปี 2001) ในขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำสุด 50% มีรายได้จากทุนประมาณ
25-28% กลุ่มคนที่รวยที่สุด top 0.001% มีรายได้จากทุนประมาณ 90% นอกจากนี้แนวโน้มที่มาของรายได้คนรวยมีแนวโน้มจะมาจากทุนมากขึ้นเมื่อเทียบจากปี
2001 2007 และ 2015 ทั้งนี้แนวโน้มที่เกิดขึ้นสะท้อนผลตอบแทนของทรัพย์สินจากมูลค่าและอัตราตอบแทน

จากตารางของการกระจายประโยชน์ของการเตบโตทางเศรษฐกิจนี้ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ปี 2015-2016 กลุ่มที่รวยที่สุด 10% ได้รับส่วนแบ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดกว่า 100% (ไฮไลท์เหลือง)นั่นหมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนี้มีแต่คนรวยที่สุด 10% เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ ในขณะที่กลุ่มคนที่เหลืออีก 90% กลับมีรายได้ที่ลดลง(ไฮไลท์สีฟ้าชี้ให้เห็นว่ามีส่วนแบ่งจากการเติบโตติดลบ) สะท้อนให้เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเล็กเป็นที่มาถึงการที่คนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจเติบโตขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนจน(Absolute Poverty) ในระยะหลังๆของไทย
สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้คนกลุ่มที่รวยที่สุดมีการเจริญเติบโตทางรายได้ที่ดีภายใต้ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่อาจจะไม่มีการเติบโตอย่างทั่วถึงนักเนื่องมาจาก ประการแรกทุนได้ประโยชน์จากอำนาจรัฐบาล โดยแสวงหากำไรผ่านระบบสัมปทานหรือความคุ้มครองจากภาครัฐ ประการที่สองทุนไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผลตอบแทนจากทุนที่สูงกว่าในภูมิภาคเอเชีย
ผลกระทบจากโควิด
ในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงได้ว่าคนกลุ่มที่รวยที่สุดนี้ได้รับผลกระทบจากโควิดมากน้อยเพียงใดและปรับตัวอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลหรืองานวิจัยที่ใช้เป็นฐานรองรับเรื่องนี้ได้ การวิเคราะห์นั้นจึงมีแนวโน้มมาจากการคาดการณ์เป็นหลัก ทั้งนี้อาจารย์วิเคราะห์ว่ากลุ่มคนรวยนั้นอาจไม่ต้องประสบภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับคนชนชั้นอื่นๆ เนื่องจากประการแรกคนกลุ่มนี้ยังมีทรัพย์สินจำนวนมากที่สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ประการที่สองผลตอบแทนจากทนก็ยังคงดำเนินต่อไป ถึงแม้ว่าราคาทรัพย์สินจะลดลงบ้าง อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ที่เป็นผลมาจากวิกฤตโควิดอาจเกิดขึ้นในระยะยาวจากการที่เศรษฐกิจจะหดตัวลงในอนาคตส่งผลให้ ผลตอบแทนจากทุนจะตกลง
แนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำ
จากที่กล่าวมาในส่วนก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่าหลายๆวิกฤตหรือ shock ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีส่วนสำคัญในการสร้างการปรับเปลี่ยนรูปแบบเชิงนโยบายที่ส่งผลให้ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำลง ในบริบทสังคมไทยนั้นจะต้องติดตามดูต่อไปว่าวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นนั้นจะสร้างผลกระทบส่งผลเป็นแรงกดดันต่อภาครัฐอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องประเด็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอีก 6% ของ GDP ส่งผลให้รัฐต้องพิจารณาแนวทางในการหารายได้เพื่อมาจัดการกับหนี้ที่เกิดขึ้นนี้ (การไม่อุ้มการบินไทยอาจสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันที่ภาครัฐต้องแบกรับทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายเงินโดยที่ไม่จำเป็นได้)
ทั้งนี้เมื่อกลับมาพิจารณาบริบทของรัฐไทย รายได้ของรัฐไทยจากภาษีนั้นมีสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติที่ต่ำเมื่อเทียบกับรัฐอื่นในยุโรป กล่าวคือรัฐไทยมีรายได้ประมาณ 15-20% ของ GDP ในขณะที่รัฐในประเทศยุโรปมีรายได้อย่างต่ำ 40% ของ GDP แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยมีการเตรียทรัพยากรในการรับมือวิกฤตที่จะเกิดขึ้นต่ำกว่าประเทศอื่น การเก็บภาษีจากทรัพย์สินคือหนทางหนึ่งที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้บริบทของ shock ที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงกดดันที่ดีให้ภาครัฐปรับทิศทางจากเดิมที่ไม่กล้าเก็บภาษีจากกลุ่มคนรวยเนื่องจากกลัวเป็นการลดการลงทุน ให้ภาครัฐจำเป็นต้องแสวงหารายได้ที่ไม่ส่งผลให้ GDP ลดมากนัก ซึ่งการเก็บภาษีทรัพย์สินซึ่งมีการกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มที่รวยที่สุดนี้คือทางเลือกที่จำเป็น

ทางผู้เสวนาได้เสนอให้ภาครัฐดำเนินการเก็บภาษีทรัพย์สินเพื่อรับมือกับโควิดภายใต้ชื่อว่า Covid Property Tax โดยเก็บในอัตราก้าวหน้าในกลุ่ม top 1% ซึ่งจากการลองคำนวณดูคร่าวๆ จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ 0.62% ของ GDP ในแต่ละปี ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งในการหาเงินมาจ่ายหนี้พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยในตัว