หลากชีวิต หลายผลกระทบ : ชีวิตคนไร้บ้านและเด็กเปราะบาง

คนไร้บ้านและเด็กเปราะบาง

เริ่มต้นนั้นจะเริ่มจากลักษณะประเด็นพื้นฐานของกลุ่มคนไร้บ้านและคนเปราะบาง สำหรับคนไร้บ้านคือกลุ่มคนที่เผชิญภาวะทางปัญหา ลักษณะของการไร้บ้านคือผลลัพธ์ที่เกิดจากปัญหาหลากหลายปัญหาทับถม เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม ปัญหาครอบครัว เป็นต้น สภาวการณ์ไร้บ้านจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของสภาวะปัญหาอันหลากหลายที่คนๆหนึ่งต้องประสบ ในขณะที่เด็กเปราะบางหรือเด็กด้อยโอกาสคือกลุ่มที่มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ง่าย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาต่างๆหลากมิติที่ทับถมเช่นกัน ในเบื้องต้นของงานสัมมนาครั้งนี้คือจะมาสำรวจผลกระทบของโควิดที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้

ทั้งนี้จากการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านเดิมที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสถานพักพิงของภาครัฐมีประมาณ 2700 คน ซึ่งหากรวมกับคนไร้บ้านที่อยู่ในสถานพักพิงภาครัฐจะมีประมาณ 7-8 พันคน โดยจากการเก็บสถิติอายุขัยเฉลี่ยของคนไร้บ้านในสังคมไทยจะอยู่ที่ประมาณ 60 ปีซึ่งต่ำกว่าคนในสังคมปกติที่มีอายุขัยเฉลี่ยที่ประมาณ 75 ปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่คนไร้บ้านเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคติดต่อมากกว่าคนทั่วไปในสังคม

ผลกระทบจากโควิด

การเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด 19 นั้นเป็นปรากฎการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยและมีผลกระทบรุนแรง รัฐบาลในประเทศต่างๆจึงไม่ได้มีการเตรียมการรับมือที่เพียบพร้อมมากนัก การเกิดขึ้นของโควิดส่งผลให้มีจำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งตกงานและสูญเสียที่อยู่รวมถึงไม่สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งคนไร้บ้านหน้าใหม่นี้ไม่ได้มีทักษะในการเอาตัวรอดในปรากฎการณ์ไร้บ้านได้ดีเท่ากับคนไร้บ้านที่เป็นอยู่มานาน(มีความเปราะบางที่หนักกว่า) ถึงแม้ว่ากระบวนการบริจาคและการช่วยเหลือจากคนในสังคมจะส่งผลให้คนไร้บ้านจำนวนมากสามารถเข้าถึงอาหารได้ แต่คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยวแยกตัวจากกลุ่มมีโอกาสสูงที่จะเข้าไม่ถึงอาหารเหล่านั้น

มีการคำนวณคาดการณ์สถานการณ์ของการเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านเป็นหลายสถานการณ์ ตั้งแต่หากภาวะเศรษฐกิจหดตัวลงในระดับเลวร้ายน้อยที่สุดประมาณ 3% คนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้นประมาณ 22.03% หากเลวร้ายที่สุดเศรษฐกิจหดตัวประมาณ 5.6% จะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นประมาณ 30.14% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขการหดตัวทางเศรษฐกิจจากการประเมิณโดยสำนักเศรษฐกิจในที่ต่างๆมีการประเมินความร้ายแรงที่สูงกว่านั้น(เศรษฐกิจหดตัวอย่างน้อย 7%) การหดตัวทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะทำให้สถานการณ์ของคนไร้บ้านจะกลับไปสู่สภาวะปกติแบบก่อนหน้านั้นได้ยาก รวมถึงแนวโน้มของการเติบโตของการใช้ automation เข้ามาใช้งานในภาคธุรกิจทำให้แนวโน้มการจ้างงานของแรงงานมีลักษณะที่ยืดหยุ่นระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีคนว่างงานจำนวนมากขึ้นซึ่งสร้างความเปราะบางต่อความต้านทานต่อปัญหาทางสังคมต่างๆโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่มี social safety net คนเหล่านี้มีโอกาสมากที่จะกลายเป็นกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือภาครัฐจะมีมาตรการเข้าช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง

นโยบายภาครัฐ

ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เมื่อได้ลงพื้นที่ไปสำรวจสภาวะการช่วยเหลือของภาครัฐจะพบปัญหาที่สำคัญจากมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้จากภาครัฐ คือมาตรการช่วยเหลือเข้าถึงได้ช้ามาก ทั้งที่มีความจำเป็นต่อคนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้มาก ทั้งนี้กลุ่มเปราะบางมีอุปสรรค 2 ประการในการเข้าถึงความช่วยเหลือ ประการแรกคือปัญหาเรื่องของทักษะในการใช้เทคโนโลยี ปัญหาประการที่สองคือเรื่องของการไม่มีสิทธิจากการที่ไม่มีบัตรประชาชน โดย 30% ของคนไร้บ้านไม่มีสิทธิในการลงทะเบียน รวมถึงมีเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือ อุปสรรคเหล่านี้เป็นปัญหาต่อคนที่จนเรื้อรัง(extreme poor)เป็นอย่างมากทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ

สิ่งสำคัญพื้นฐานอันดับแรกที่ภาครัฐควรจะตระหนักคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึนซึ่งกระทบต่อคนกลุ่มต่างๆเหล่านี้เป็นผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ การช่วยเหลือของภาครัฐนั้นคือการชดเชยผลกระทบจากการที่ภาครัฐสร้างขึ้น การเริ่มต้นที่หลักคิดเช่นนี้ภาครัฐจึงต้องเป็นผู้ดำเนินการเข้าหากลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการชดเชย ไม่ใช่การให้คนที่ต้องการรับการชดเชยเข้าหาภาครัฐเพื่อให้ได้รับการชดเชย การชดเชยก็ไม่ควรเป็นการชดเชยที่ระบุกลุ่มที่ต้องได้รับการชดเชยเนื่องจากอาชีพในสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นจึงมีโอกาสที่จะตกหล่นมาก ควรดำเนินในทางกลับกันคือระบุกลุ่มที่ไม่ควรได้และชดเชยให้คนที่เหลือทุกคน ทั้งนี้ระบบข้อมูลของผู้ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับความซับซ้อนเชิงประชากรดังกล่าว

วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นได้เปิดเผยถึงปัญหาความไม่แน่นอน/ความเปราะบางที่เกิดขึ้นในสังคม กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตสูง หากขาดรายได้จะส่งผลให้สูญเสียปัจจัยพื้นฐานอย่างฉับพลัน แต่อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์โควิดได้เปิดเผยให้เห็นถึงการช่วยเหลือจากด้านทุนทางสังคม ในชุมชนมีการช่วยเหลือด้านต่างๆต่อกัน ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือให้สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการช่วยเหลือจากภาครัฐ และชุมชนรวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างสำคัญในการระบุกลุ่มผู้เปราะบางที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ส่งผลให้มีการดึงทรัพยากรไปช่วยเหลือได้อย่างถูกจุด ทั้งนี้ในชุมชนที่มีรความเข้มแข็งจะมีการจัดสรรทรัพยากรในการช่วยเหลือได้มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าชุมชนที่มีความสัมพันธ์ที่หลวมกว่า แต่อย่างไรก็ตามในระยะยาวการช่วยเหลือจากชุมชนภาคประชาสังคมก็มคำถามตามมาว่าจะมีความยั่งยืนมากแค่ไหน

โดยสรุปแล้วในเมื่อเห็นภาพว่ารัฐมีทรัพยากรที่มากแต่ไม่มีข้อมูลและไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือเนื่องจากมีลักษณะที่เทอะทะไม่สามารถตอบสนองต่อความซับซ้อนได้ ในขณะที่ชุมชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญและสามารถเข้าช่วยเหลือได้ดีกว่าแต่ทรัพยากรอาจไม่มากนัก คำถามที่เกิดขึ้นคือจะจัดตำแหน่งในระบบการช่วยเหลืออย่างไร โดยทั้งนี้ผู้ร่วมสัมมนามองว่าการปรับตำแหน่งให้ภาคประชาสังคมและชุมชนเป็นตัวหลักในการช่วยเหลือโดยให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนอาจจะเป็นรูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสมกว่า