
ในงานวิจัยของศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธได้นำเสนอเรื่องดัชนีพฤฒิพลัง หรือดัชนีพลังผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่าของผู้สูงอายุ โดยพิจารณาตัวชี้วัดสี่ด้านคือด้านสุขภาพกายภาพ การมีส่วนร่วมในสังคม ความมั่นคงในการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่เอื้อต่อการสูงอายุอย่างมีคุณภาพ เช่น การอ่านออกเขียนได้ การครอบครองอุปกรณ์ ICT ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นหลักที่นำมาพูดคุยกัน สามอันแรกเป็นมิติที่โดดเด่นและอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
ผลการศึกษาค้นพบว่าพลังของผู้สูงอายุลดน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีพ.ศ. 2557 และ 2560 เมื่อนำความเหลื่อมล้ำในด้านพลังผู้สูงอายุเทียบกับความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำในมิติของพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคพบว่าแต่ละภูมิภาคมีความเหลื่อมล้ำต่างกัน ความเหลื่อมล้ำทางเพศระหว่างชาย หญิงพบว่าเพศชายจะมีพลังผู้สูงอายุมากกว่า ความเหลื่อมล้ำในมิติของพื้นที่พบว่าพื้นที่นอกเขตเทศบาลจะมีพลังผู้สูงอายุมากกว่าในเขตเทศบาล ส่วนมิติของการศึกษาผู้ที่สำเร็จการศึกษาอนุปริญญาขึ้นไปจะมีพลังผู้สูงอายุมากกว่าผู้สูงอายุที่สำเร็จการศึกษาน้อยกว่า 1.4 เท่า ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัวจะมีดัชนีสูงอายุสูงกว่าลูกจ้างในองค์กรเอกชนหรือราชการ และกลุ่มที่ทำงานจะมีพลังผู้สูงอายุมากกว่าคนที่อาศัยเงินบำนาญ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านดัชนีผู้สูงอายุเมื่อเกิดโควิด 19 นั้น อาจพิจารณาได้ในสองประเด็นคือ 1) เรื่องความเพียงพอในเงินออมที่เก็บสะสมมา เชื่อมโยงไปเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ณ ปัจจุบัน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอ แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องทำงาน ก่อนที่จะเกิดโควิดสภาพโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมเปราะบางมีความอ่อนไหวอยู่แล้ว เมื่อเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ก็มีโอกาสได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีระบบสวัสดิการหรือโครงข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งรองรับ โดยโครงสร้างภาพรวมผู้สูงอายุที่มีรายได้มาจากบุตรมี 36-37% และผู้สูงอายุที่ได้รายได้มาจากการทำงานมี 34% ดังนั้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และหยุดการจ้างงานจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูงอายุ สำหรับวิธีการรับมือกับปัญหาเงินออมหรือเบี้ยผู้สูงอายุไม่เพียงพอนั้นในระยะยาวอาจต้องเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มที่กลายเป็นสูงอายุไปแล้วอาจต้องหาทางประคับประคองไป สำหรับผู้สูงอายุปัญหาสำคัญจากการเกิดโควิดจึงเป็นเรื่องของความมั่นคงทางการเงินที่ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบมาก
2) เรื่องโครงสร้างการทำงานที่เอื้อกับผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุมีเงินออมไม่พอก็ต้องออกไปทำงาน แต่ทว่าไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่ได้ทำงาน รัฐต้องจ้างงานให้สอดคล้องกับการเป็นสังคมสูงวัย ควรต้องมีคู่มือ มีการสนับสนุน เป็นประเด็น เป็นเรื่องไปว่าผู้สูงอายุควรมีทักษะในด้านใดบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพราะประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยตั้งแต่ก่อนมีโควิดแล้ว การเกิดโควิดจึงอาจเป็นโอกาสที่จะได้สนทนากันว่าเรื่องใดรัฐบาลควรสนับสนุน ควรมีการสนทนากันระหว่างภาคธุรกิจกับสถาบันการศึกษา เพื่อลดปัญหาการจบไม่ตรงสายกับงานที่ทำ สิ่งที่จบมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นปัญหาเรื่องการจ้างงานที่ต้องมองเป็นองค์รวม ในตลาดแรงงานขาดแรงงานที่มีทักษะ แต่ก็มีแรงงานที่ไม่มีงาน วัยแรงงาน หรือผู้สูงอายุควรจะพัฒนาทักษะด้านไหน เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานให้มากที่สุด
ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิด โต จนแก่แล้วอาจมีเงินเก็บไม่พอ ไม่มีสวัสดิการหรือมาตรการใด ๆ มารองรับ ไม่มีนโยบายที่ปรับตัวได้ ในกรณีของโควิด ขณะนี้รัฐบาลออกมาตรการมาเยียวยากลุ่มเปราะบางซึ่งมีผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้น แต่ยังไม่มีนโยบายระยะยาว เพราะรัฐไทยมักให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประเทศไทยควรมองในระยะยาว ไม่ควรมองแยกภาคส่วน มองในองค์รวม ทั้งนี้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม จากโควิดเวลาจะแก้ปัญหาหรือเยียวยาผู้สูงอายุก็ควรมองทั้งระบบ
เมื่อกลับมาพิจารณาในดัชนีผู้สูงอายุ ในประเด็นเรื่องของสภาพแวดล้อมนั้น ถ้ากำหนดปัจจัยอื่นคงที่ ผู้สูงอายุที่ติดต่อกับบุตรหลานมีพลังผู้สูงอายุมากกว่า ได้รับบริการสาธารณสุขจากภาครัฐจะมีพลังมากกว่าเอกชน ในส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์สะท้อนให้เห็นว่ามีผลต่อพลังผู้สูงอายุ ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดมีการถกเถียงกันในเรื่องของการให้ผู้สูงอายุทำงาน เนื่องจากอาจมีปัญหาด้านความคล่องตัวและการเดินทาง แต่โควิดทำให้เห็นว่าการทำงานอยู่กับที่เริ่มไม่เป็นข้อจำกัดแล้วจึงควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน เมื่อมีโควิดทำให้ต้องกลับมาพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ผู้สูงอายุอาจสานสัมพันธ์ ทำกิจกรรม หาความรู้ผ่านทีวีหรือช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นและฝึกทักษะด้านต่าง ๆ
ในด้านของความเพียงพอของการจัดสรรงบประมาณนั้น งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุอาจไม่ได้เพียงพอในตอนนี้ ประเทศที่มีระบบสวัสดิการเองก็ยังมีไม่มากพอ ควรเร่งเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน ป้องกันก่อนเกิดเหตุ ปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุคือเรื่องของโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและเรื่องสุขภาพ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชนจะรู้จักผู้สูงอายุดี สามารถช่วยเสริมกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ได้ ควรให้อำนาจหน้าที่แต่ละท้องถิ่นสามารถออกแบบการดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสม
สำหรับมาตรการในระยะยาว หลายประเทศเป็นสังคมสูงวัยก่อนไทย แต่ไทยมีปัญหาแก่ก่อนที่จะรวย แก่แล้วไม่มีเงินพอ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ฝังรากมานาน ต้องแก้ไขวัฏจักรการเกิด โต ไปจนถึงแก่ ที่ทั้งจนและขาดโอกาส คนวัยทำงานถ้าไม่มีต้นทุน ไม่มีโครงข่ายสังคมมารองรับตอนนี้ก็จะไม่มีความมั่นคงหรือสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับวันข้างหน้า เนื่องจากวัยทำงานต้องดูแลทั้งลูกและพ่อแม่ ระหว่างที่ทำงานแทบไม่มีเงินออมแม้จะมีความรู้ทางการเงินก็อาจทำอะไรไม่ได้ เมื่อแก่ตัวลงก็จะแก่ก่อนรวย ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ ต้องพยายามแก้ไขวงจรวัฏจักรนี้ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพบุคลากร ส่งเสริมการสาธารณสุข จัดให้มีระบบสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การลาคลอด เงินเลี้ยงดูบุตร นอกจากนี้การดูแลผู้สูงอายุยังสามารถเป็นอาชีพได้ จึงควรเสริมทักษะการดูแลผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ
การเป็นสังคมสูงวัย เรื่องการเสริมความรู้และทักษะ การวางแผนการเงินในระยะยาว ควรมีการประสานกันในระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ บางประเด็นอาจไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุกลุ่มเดียว แต่เป็นเรื่องของประชากรทุกกลุ่มไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องระบบภาษีและสวัสดิการที่สมดุล หากต้องการสร้างโครงข่ายทางสังคมที่แข็งแรง เป็นรูปธรรม อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง รายรับต้องมากกว่ารายจ่าย จึงต้องสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองในเรื่องของการจ่ายภาษี เพื่อสร้างสวัสดิการ และต้องปรับความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจในและนอกระบบ เพื่อวางมาตรการสำหรับสังคมสูงวัยในระยะยาว