สัมมนา “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าด้วยโลกาภิวัฒน์กับความเหลื่อมล้ำในอดีต”

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่าด้วยโลกาภิวัฒน์กับความเหลื่อมล้ำในอดีต (Globalization and Inequality: A Case of Early Modern Siam)” โดย ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม งานสัมมนาครั้งนี้กล่าวถึงกลไกความเชื่อมโยงระหว่างโลกาภิวัฒน์ในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัชการที่ 4 และโยงมาสู่นัยยะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งเกิดข้อสรุปว่า ในอดีต ประเทศมหาอำนาจตัดสินใจครอบครองประเทศขนาดเล็กด้วยปัจจัยด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากนั้น ความก้าวหน้าทางการผลิตจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลต่อการล้มเลิกระบบบังคับเกณฑ์แรงงาน โครงสร้างเชิงสถาบันในประเทศขนาดเล็กจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง เหตุผลที่โลกาภิวัฒน์ไม่ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในช่วงศตวรรษที่ 17 เนื่องจากการส่งต่อเทคโนโลยีและท่าทีของประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสถาบันของสยาม ในขณะที่ในศตวรรษที่ 19 โลกาภิวัฒน์ส่งผลกระทบต่อระบบบังคับเกณฑ์แรงงาน การควบคุมที่ดินและปัจจัยการผลิต จึงได้ข้อสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกทำให้การกระจุกตัวของความเหลื่อมล้ำในประเทศเล็กไม่สามารถดำรงได้ต่อไป ทั้งนี้เทคโนโลยีมีนัยยะต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก การกระจายทรัพยากรทางเทคโนโลยีและความรู้อย่างเท่าเทียม โดยปราศจากการควบคุมโดยกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นกุญแจหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต