ชุดสัมมนา “ขยับ เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมมองของนักคิดร่วมสมัย”

ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) ได้ร่วมมือกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดซีรี่ย์สัมมนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง” โดยจัดสัมมนาขึ้นทั้งหมด 7 ครั้ง ร่วมจัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชุดสัมมนา “ขยับ เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมมองของนักคิดร่วมสมัย” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “Development Economics Reconsidered: from a Gandhian Viewpoint” 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 เวลา 13.30 น. – 15.30 น. ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “Development Economics Reconsidered: from a Gandhian Viewpoint” โดย Professor Kazuya Ishii, Faculty of Law, Kagawa University, Japan ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

ชุดสัมมนา ขยับ เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมมองของนักคิดร่วมสมัย ครั้งที่ 2 “ยังมีความหมาย: แนวคิดเรื่องชุมชนของ Elinor Ostrom กับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21”

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 น. – 15.30 น. ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาหัวข้อ “ยังมีความหมาย: แนวคิดเรื่องชุมชนของ Elinor Ostrom กับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” โดย อ.ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุม 60 ปี 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัมมนาชุด “ขยับ เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมมองของนักคิดร่วมสมัย” ร่วมจัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานสัมมนาครั้งนี้เอาแนวคิดของ Elinor Ostrom ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2009 ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและการจัดการทรัพยากรร่วมโดยชุมชนผู้ใช้ทรัพยากรเอง Ostrom ได้ท้าทายความเชื่อเดิมที่ว่า การจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพนั้น ทำได้โดยตลาดและรัฐเท่านั้น อ.ชล บุนนาค ได้ชี้ให้เห็นถึวภาพรวมของงานของ Ostrom แล้วจึงอธิบายเจาะลงไปถึงข้อเสนอที่สำคัญของเธอที่เกี่ยวข้องกับการอธิบายการจัดการทรัพยากรร่วมของชุมชนผู้ใช้ทรัพยากร และอธิบายขยายความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับหลัก Design Principles อันเป็นผลลัพธ์จากการสรุปบทเรียนที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของกติกาในการจัดการทรัพยากรร่วมจากกรณีศึกษาทั่วโลก

แม้ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปและทำให้ชุมชนตามความเข้าใจทั่วไปของสังคมลดขนาดและ/หรือเปลี่ยนรูปแบบไป แต่ข้อเสนอของ Ostrom ก็ยังประยุกต์ใช้ได้อยู่บ้างหากโจทย์ของการจัดการทรัพยากรนั้นอยู่ในบริบทของการจัดการทรัพยากรร่วม (หรือสินค้าบริการแบบอื่น) โดยผู้้ทรัพยากรเออง ในขณะเดียวกัน ความท้าทายอื่น ๆ ในโลกที่ซับซ้อนขึ้นและเชื่อมโยงกับหลายระดับโดยเฉพาะระดับภูมิภาคและระดับโลกอาจทำให้แนวคิดของ Ostrom ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้โดยตรงเนื่องจากข้อเสนอหลักของเธออยู่บนฐานของบริบทระดับชุมชน แต่แนวคิดนี้ก็ได้ถูกนักวิชาการในแขนงอื่นนำไปใช้พัฒนาแนวคิดและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการสิ่งแสดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไปด้วย

ซีรี่ส์สัมมนา “ขยับ-เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมของนักคิดร่วมสมัย” ครั้งที่ 3: “Joseph Stiglitz กับความเหลื่อมล้ำที่เราเลือกได้”

สัมมนาครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “Joseph Stiglitz กับความเหลื่อมล้ำที่เราเลือกได้” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 นำเสนอโดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ นำเสนอถึงแนวคิดและข้อเสนอของ Joseph Stiglitz ต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดย Stiglitz ได้ฉายภาพให้เห็นข้อเท็จจริงที่น่าหดหู่เกี่ยวกับเศรษฐกิจอเมริกันบางประการ ดังนี้ การเติบโตของรายได้ในสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่นานมานี้ หลัก ๆ เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของการกระจายรายได้ทั้งหมด อันนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น และความเหลื่อมล้ำปรากฎชัดไม่เฉพาะแต่ในรายได้ แต่รวมไปถึงตัวแปรอื่นที่สะท้อนมาตรฐานการครองชีพ และความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งยิ่งแย่กว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ นอกจากนี้โอกาสการเลื่อนชั้นทางรายได้ต่ำมาก ความคิดที่ว่าอเมริกาคือดินแดนแห่งโอกาสเป็นเพียงมายาคติ และยังพบว่าอเมริกามีความเหลื่อมล้ำมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าทุกประเทศ แต่มีความพยายามในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า อีกทั้งความเหลื่อมล้ำยังถ่างกว้างเร็วกว่าในประเทศอื่น ๆ Stiglitz เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำในระดับที่สูงมาก ๆ  จะนำมาสู่ผลเสียต่อการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย จึงนำมาสู่ข้อเสนอว่าเราควรพยายามสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และจะต้องทำให้การแข่งขันที่เป็นธรรมที่ทำให้สามารถมองเห็นและแบกรับต้นทุนภายนอกได้ นอกจากนี้ Stiglitz ยังเชื่อว่าการเมืองและโครงสร้างเชิงสถาบันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากกลุ่มมหาเศรษฐีสามารถใช้อิทธิพลทางการเมือง เพื่อแสวงหาและรักษาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายกว่าเดิม Stiglitz พยามยามชี้ให้เห็นว่าการจะเข้าใจว่าการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องเข้าใจพลังทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาแต่แรก

ซีรี่ส์สัมมนา “ขยับ-เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมของนักคิดร่วมสมัย” ครั้งที่ 4: “เผชิญหน้า-วิพากษ์: Arturo Escobar กับแนวคิดหลังการพัฒนา”

สัมมนาครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เผชิญหน้า-วิพากษ์: Arturo Escobar กับแนวคิดหลังการพัฒนา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 นำเสนอโดย อ.ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงแนวคิดของ Pablo Escobar นักมานุษยวิทยาที่นำกระแสท้าทายแนวคิดพัฒนาด้วยการใช้การวิเคราะห์ทางวาทกรรม Escobar มองวาทกรรมโลกที่สามออกจากความหมายเดิมที่ปราศจากการมีความสามารถในการพัฒนาด้วยตนเอง แนวคิดแบบหลังการพัฒนา หรือ Postdevelopment ปฏิเสธการนิยามของการพัฒนาที่ดีและทฤษฎีการพัฒนาเดิมที่ว่าด้วยการยกประเทศโลกตะวันตกเป็นแม่แบบการพัฒนา และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนองค์ความรู้เดิม โดยนำองค์ความรู้ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามานับรวมกับแนวคิดพัฒนา Escobar เชื่อว่าวาทกรรมการพัฒนาคงอยู่ได้จาก (1) การสร้าง ‘ความผิดปกติ’ เช่นการด้อยพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่รอคอยการปรับปรุง (2) การทำให้การพัฒนาเป็นเรื่องอาชีพ โดย Escobar เชื่อว่าองค์ความรู้การพัฒนาถูกนำมาใช้ในการผลิตปัญหาที่ต้องมีการศึกษาและแก้ไขของ ‘โลกที่สาม’ (3) การทำให้การพัฒนาเป็นเรื่องเชิงสถาบัน เช่นการสร้างองค์กรพัฒนาระดับประเทศอันเปลี่ยนการวิพากษ์เชิงทฤษฎีมาเป็นเครื่องมือทางเทคนิค นอกจากนี้ Escobar ได้เสนอให้มีการตั้งคำถามกับองค์ความรู้ศาสตร์ของโลกตะวันตก และท้าทายความคิดการพัฒนาในเชิงวาทกรรมและอุดมการณ์

ซีรี่ส์สัมมนา “ขยับ-เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมของนักคิดร่วมสมัย” ครั้งที่ 5: “MIT Povery Lab กับกุญแจวิเศษของการพัฒนา”

สัมมนาครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “MIT Povery Lab กับกุญแจวิเศษของการพัฒนา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 นำเสนอโดย ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอถึง MIT Poverty Lab และเครือข่ายวิจัยที่ได้ทำการศึกษาทางด้านนโยบาย anti-poverty และเล่าถึงการทำความเข้าใจคนจนในมุมมองใหม่ เพื่อการออกแบบนโยบายที่ได้ผล โดยในมุมมองของ J-Pal มองว่า คนจน คือ กลุ่มคนที่มีความจำกัดทั้งการเข้าถึงทั้งข้อมูลและทรัพยากรด้านเงินทุน ดังนั้น การตัดสินใจของคนจนจึงไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขเดียวกันกับคนรวยและคนชั้นกลางทั่วไป การให้ความช่วยเหลือคนจนจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดว่าคนจนมักจะขาดการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ การให้ข้อมูลแก่คนจนจะต้องง่ายแก่การทำความเข้าใจและน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งหากต้องการใช้นโยบายที่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมจะต้องทำให้ง่ายและทำได้ทันที นอกจากนี้การช่วยปรับความคาดหวังในชีวิตยังมีส่วนช่วยให้เขาปรับพฤติกรรมและการตัดสินใจที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ดีขึ้นได้ จากผลงานของ Banerjee และ Duflo พบว่าจำเป็นจะต้องมีงานวิจัยภาคสนามที่มีข้อมูลที่มีคุณภาพมากกว่าข้อมูลปัจจุบัน และต้องมีโครงการวิจัยแบบมดลองโดยการออกแบบการทดลองขนาดใหญ่เพื่อทดสอบว่าทฤษฎีทางแก้ไขทฤษฎีใดถูกต้อง (randomized controlled trials)

ซีรี่ส์สัมมนา “ขยับ-เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมของนักคิดร่วมสมัย” ครั้งที่ 6: “ค้นหาความหมายของชีวิตที่ดีกับ Amartya Sen”

สัมมนาครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “ค้นหาความหมายของชีวิตที่ดีกับ Amartya Sen” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 นำเสนอโดย ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงการค้นหาความหมายของชีวิตที่ดีตามแนวคิดของ Amartya Sen โดยได้กล่าวถึงหนังสือสองเล่ม คือ Development as Freedom กับ The Idea of Justice ในหนังสือเรื่อง Development as Freedom กล่าวว่าชีวิตที่ดีคือการที่เรามีเสรีภาพที่จะทำให้เราได้มาซึ่งสิ่งที่เราคิดว่าดี เนื่องจากคนแต่ละคนให้ความหมายของชีวิตที่ดีแตกต่างกัน ดังนั้นเสรีภาพจะช่วยให้คนแต่ละคนไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองให้ความสำคัญได้ นอกจากนี้เสรีภาพยังช่วยทำให้การวัดผลการพัฒนาดีขึ้น  เนื่องจากทำให้เราสามารถมองเห็นแง่มุมต่าง ๆ ที่เราจะสามารถพัฒนาได้กว้างขึ้นช่วยให้เกิดการพัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น เซนพูดเสมอว่าการสร้างกฎเกณ์ที่เป็นธรรมเราจำเป็นจะต้องพิจารณามิติกับนัยยะพร้อมกัน ซึ่งมิติคือกฎเกณฑ์และนัยยะคือผลลัพธ์ เราไม่ควรพิจารณาเพียงแค่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่สนใจกระบวนการที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงหลัก Capability Approach ซึ่งเป็นกรอบที่สามารถมาอธิบายการพัฒนาชีวิตที่ดีได้ เซนกล่าวว่าเราไม่ควรระบุสิ่งที่ควรเป็นให้กับผู้อื่น แต่ควรให้ประชาชนเลือกเองว่าคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไรและควรพิจารณาคุณภาพชีวิตที่ดีในหลาย ๆ ด้านพร้อมกัน นอกจากนี้ยังได้อธิบายอีกว่าความเหลื่อมล้ำมีลักษณะคล้ายกับความยากจนที่มีความเกี่ยวข้องกับโอกาสในการเข้าถึงและระบอบประชาธิไตยมีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาเนื่องจากทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องสิ่งที่เราจะสร้างคุณค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่คนในสังคมต้องการ

ซีรี่ส์สัมมนา “ขยับ-เขย่า แนวคิดการพัฒนา วิเคราะห์วิพากษ์การพัฒนาจากมุมของนักคิดร่วมสมัย” ครั้งที่ 7: “สัมมนา ทบทวนการพัฒนาด้วยชาติพันธุ์นิพนธ์ของ David Mosse”

สัมมนาครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “ทบทวนการพัฒนาด้วยชาติพันธุ์นิพนธ์ของ David Mosse” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562นำเสนอโดย ผศ.ดร.จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอถึงการทบทวนการพัฒนาด้วยชาติพันธุ์นิพนธ์ของ David Mosse โดย David Mosse เป็นผู้สนใจในเรื่องวรรณะ ศาสนา การเคลื่อนไหวในสังคม และการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ David Mosse เอาแนวคิดเรื่องการศึกษากล่องดำมาใช้ในการศึกษากระบวนการพัฒนา ซึ่งการศึกษากล่องดำของการพัฒนาคือการศึกษากลุ่มคนที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดย David Mosse เปลี่ยนแนวคิดจาก Anthropology of development  เป็น Anthropology in development  ซึ่งเป็นแนวคิดที่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่สังเกตการพัฒนาเท่านั้น แต่เป็นการเข้าไปทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งในโครงการพัฒนา หลังจากนั้น David Mosse ได้เขียนงานออกมาชิ้นหนึ่งซึ่งพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนา David Mosse พบว่ากลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทุกคนมีความคิดในมุมของตัวเอง เช่น นักเศรษฐศาสตร์จะให้ความสำคัญในด้านต้นทุนและผลลัพธ์ เป็นต้น ทำให้ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านในโครงการพัฒนาหนึ่งๆ แตกต่างกัน นอกจากนี้ David Mosse ยังอธิบายต่ออีกว่า expert community เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด political agenda ก่อนที่จะปรับ political agenda ให้เป็น policy ซึ่ง policy มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองสูง จากนั้นจึงปรับ policy ให้เป็น technical model ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ใช้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วการพัฒนายังคงสามารถดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่เราสามารถดึงเอา political support และ resource เข้ามาสู้โครงการพัฒนาได้