สัมมนา “70 ปี รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย”

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2562 คณะรัฐศาสตร์ได้จัดเสวนา  “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย : กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เนื่องในงานครบรอบ 70 ปี การสถาปนาคณะรัฐศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ โดยมี ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ และ ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ และ ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา และ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมวงเสวนา โดย รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย ได้ระบุว่าเศรษฐกิจไทยโตช้า เพราะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สูญเสียความสามารถในการแข็งขัน ปรับตัวจากที่เคยใช้แต่แรงงานและทรัพยากรหรือขายสินค้าราคาถูกไม่ได้ เมื่อค่าแรงสูงขึ้น การลงทุนจากต่างชาติและทุนไทยก็ย้ายฐานไปประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า โดยปัญหาทั้งหมดเกิดจากโครงสร้างของรัฐไทยเอง ขณะที่การลงทุนภาครัฐของไทยกลับสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้ขยายกว้างขึ้น แทนที่จะกระจายมั่งคั่งหรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหมือนหลายๆประเทศ โดยเห็นว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการรวมศูนย์อำนาจ ตามด้วย ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ  กล่าวว่า กับดักที่สำคัญของการเมืองไทย คือ รัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ศรัทธาและไม่มีคุณค่าในความเป็นกฎหมายสูงสุด เนื่องจากการออกแบบมาให้อำนาจตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและถูกฉีกทิ้งได้ง่ายหรือมีการรัฐประหารบ่อย ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย และการมีรัฐธรรมนูญไม่ได้แปลว่าประเทศมีประชาธิปไตยหรือนิติรัฐแต่อย่างใด และ ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา กล่าวว่า กลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่กุมอำนาจรัฐปัจจุบัน ใช้แผนไทยแลนด์ 4.0 เป็นวิธีในการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และไม่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ตัวเองได้เปรียบ ขณะที่กลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองเสรีนิยม เชื่อว่าไม่ต้องทำตามปผน 4.0 ทั้งหมด และต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งภาวะของการต่อสู้เปลี่ยนแปลงการถือครองอำนาจนี้ ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมในอนาคตด้วย และสุดท้าย ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ ยืนยันว่า การที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเพราะชนชั้นนำไม่ยอมให้เสียงข้างมากใหม่ที่เติบโตขึ้นจากระบบเศรษฐกิจได้มีส่วนแบ่งทางอำนาจ และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยได้พิสูจน์แล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ตรงตามเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ ขณะที่สถาบันสำคัญโดยเฉพาะองค์กรอิสระและรัฐสภา ที่ระบบเสรีนิยมสร้างขึ้นเพื่อจำกัดและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ถูกชนชั้นนำบิดเบือนไปใช้ประโยชน์ ทำให้เสียงข้างมากไม่มีอำนาจปกครองตามที่ควรจะเป็น