การชี้วัดจากข้อมูลการสำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมบ่งบอกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในไทยได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2535 และค่อย ๆ ลดระดับลงในระยะยาว โดยในปี 2558 มีค่าเท่ากับ 44.5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี อย่างไรก็ตามได้มีผู้วิจารณ์ว่าการชี้วัดดังกล่าวอาจผิดจากความเป็นจริงเป็นอย่างมากเนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลดังนั้นจึงได้มีงานวิจัยที่พยายามวัดความเหลื่อมล้ำที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่คาดว่าจะเป็นแหล่งที่มาของความเหลื่อมล้ำในระยะหลัง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยใช้มุมมองจากความเหลื่อมล้ำในระดับบน เนื่องจากได้รับความอนุเคราะห์ให้เข้าถึงฐานข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผู้วิจัยจึงเลือกประมาณส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มคนในระดับบนโดยใช้วิธีการแทรกค่าแบบพาเรโตซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในงานวิจัยในประเทศต่าง ๆ ถึงแม้ว่าข้อมูลที่สมบูรณ์ยังอยู่ในช่วงของการรวบรวมแต่จากการใช้ข้อมูลเบื้องต้นที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจดังนี้ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งจากการชี้วัดจากการสำรวจโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้กลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการเจริญเติบโตทางเศรษกิจในช่วงเวลาดังกล่าวคือกลุ่มคนระดับบนจำนวนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ประการต่อมาคือกลุ่มคนดังกล่าวมีส่วนแบ่งรายได้อยู่ในระดับสูงมากคือ 13%-16% ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ผลลัพธ์ประการสุดท้ายคือ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2555 อาจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้มาก