
ปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ภาวะการระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลงไปหลังจากที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของแทบทุกคนในสังคมมาเป็นเวลามากกว่าสองปี
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากภาวะการระบาดที่เกิดขึ้นนั้นยังคงอยู่ บาดแผลจากการต้องสูญเสียรายได้ ชั่วโมงทำงาน การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน และการสูญเสียทรัพย์สิน ยังคงไม่ได้จางหายไปสำหรับผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 คลี่คลายลงนั้นก็กลับไม่ได้ดีอย่างทีหลายคนคาดหวังเอาไว้ สภาพเหล่านี้สร้างคำถามกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะกลายไปเป็นการฟื้นตัวแบบที่ “ทิ้งคนส่วนหนึ่งไว้ข้างหลัง” หรือไม่
นอกจากนี้ หากมองแต่เพียงพื้นฐานเดิม ปัญหาที่คงเดิมในเรื่องสภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศก็ยังคงอยู่เช่นกัน และยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ไม่ได้คลี่คลายลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นทิศทางความเหลื่อมล้ำที่จากดัชนีชี้วัดในภาพรวมเสมือนจะดีขึ้น แต่หากมองในรายละเอียดแล้วกลับไม่ได้ดีขึ้นจริง ด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการชะงักงันของรายได้ในกลุ่มชนชั้นกลางระดับบนเป็นสำคัญ ในขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีและด้านสิ่งแวดล้อมก็กำลังกลายเป็นสภาพความเหลื่อมล้ำด้านใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยในอนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในด้านของกลุ่มคนที่ประสบปัญหาคุณภาพชีวิตภายใต้ความเหลื่อมล้ำนั้น เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มอายุที่กำลังอยู่ในภาวะทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มคนยากจนในสังคมไทยนั้นเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าสังคมสูงอายุนั้นมาถึงประเทศไทยแล้ว และกำลังมาพร้อมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดระหว่างคนสูงอายุจำนวนมากที่ยากจนกับกลุ่มคนที่เหลือ สภาพความเหลื่อมล้ำในลักษณะนี้สร้างคำถามสำคัญถึงทางออกจากปัญหาที่จะยากมากกว่าการลดความเหลื่อมล้ำในกรณีที่สังคมยังเต็มไปด้วยคนในวัยแรงงานอย่างแน่นอน
สภาพปัญหาพื้นฐานเดิม ประกอบกับความท้าทายใหม่ เป็นประเด็นสำคัญที่จะถูกถ่ายทอดในรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำประจำปี 2565 นี้ โดยที่ตัวรายงานจะมุ่งไปที่การสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งรายกลุ่ม และรายประเด็น รวมไปถึงสำรวจบทบาทของนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบของโควิด-19 ต่อความเหลื่อมล้ำ โดยเนื้อหาเหล่านี้ในรายงานได้รับการสังเคราะห์มาจากงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการในช่วงระหว่างปี 2564-2565
นอกจากนี้ตัวรายงานยังนำเอาข้อเขียนของนักวิจัยที่เป็นสมาชิกของศูนย์วิจัยฯ เพื่อมาเสริมในการวิเคราะห์การจัดการปัญหาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ดาวน์โหลดได้ที่ : https://drive.google.com/drive/folders/1E2kigPc3rkgm2576TjNKOh3UswxO8bPH