โควิด 19 กับความเปลี่ยนแปลงของทุนนิยมไทย-โลก
ตัวแทนจากเอสเอ็มอี โดย สรวิศ อิสระโคตร เสียงจากตัวแทนของเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีจะมาเล่าประเด็นที่สำคัญ 2 ประเด็นคือ วิธีการปรับตัวของกิจการภายใต้ภาวะวิกฤต และทัศนะต่อการช่วยเหลือของภาครัฐ ในประเด็นแรกกิจการของวิทยากรนั้นต้องพบกับสภาวะการขาดแคลนรายได้เนื่องจากอัตราการสั่งซื้อสินค้าของบริษัทลดลงถึง 50% ส่งผลให้กระบวนการผลิตต้องลดลง อย่างไรก็ดีทางออกในการปรับตัวโดยไม่ปลดคนงานของวิทยากรนั้นมีการปรับงานที่แรงงานทำชั่วคราว จากส่วนการผลิตไปสู่การบำรุงรักษาสถานประกอบการเพื่อรอสถานการณ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์คู่ค้าในประเทศจีนเริ่มดีขึ้นบ้างส่งผลให้ทางบริษัทเริ่มเห็นโอกาสอันดีในอนาคตอันใกล้ ส่วนเรื่องของนโยบายเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการมองว่ายังไม่ตอบสนองต่อปัญหาได้ตรงจุดมากนัก ประการแรกการเลื่อนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนโยบายการหักค่าใช้จ่ายส่วนค่าจ้างได้ 3 เท่านั้นไม่ตรงจุดเนื่องจากกิจการไม่มีรายได้ที่จะเสียภาษีอยู่แล้ว ประการที่สองรัฐออกมาตรการช่วยเหลือช้าไปไม่สามารถช่วยธุรกิจในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดได้ทัน ทั้งนี้วิทยากรเห็นว่านโยบายที่ควรจะใช้ได้แก่การสนับสนุนด้วย soft loan การถกเถียงในวงการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอเมริกา โดย ดร.สิร นุกูลกิจ ในส่วนนโยบายการพยุงเศรษฐกิจของอเมริกานั้น จากการทำข้อมูลของวิทยากร พบว่ารัฐบาลอเมริกาได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทั้งนี้สัดส่วนรายจ่ายที่มุ่งเป้าเป็นเงินโอนรายหัว(ให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี คนละ 1,200 เหรียญสหรัฐ)ใช้จ่ายประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ รายจ่ายที่มุ่งเป้าไปที่บริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายจ่ายที่มุ่งสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การที่รัฐบาลใช้จ่ายสนับสนุนบริษัทใหญ่จำนวนมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทำให้เป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรง ทั้งนี้ในวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ของอเมริกานั้น ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด 19 ขึ้นแนวโน้มของนักวิชาการด้านการเงินจะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อ(Inflation Targeting) โดยธนาคารกลางจะออกนโยบายที่ถ่วงดุลย์นโยบายการคลังป้องกันไม่ให้เกิดเงินเฟ้อขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นแนวโน้มการถกเถียงเรื่องนโยบายนั้นมองข้ามปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ […]